ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ศรีลังกา" งดขายน้ำมันคนทั่วไป - สำรองใช้ฉุกเฉิน

ต่างประเทศ
29 มิ.ย. 65
06:51
785
Logo Thai PBS
"ศรีลังกา" งดขายน้ำมันคนทั่วไป - สำรองใช้ฉุกเฉิน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
วิกฤตเศรษฐกิจที่เผชิญการล่มสลายในศรีลังกาดำดิ่งลึกลงไปอีกขั้น เมื่อทั้งประเทศกำลังจะไม่มีน้ำมันเชื้อเพลิงใช้ ส่งผลให้รัฐบาลประกาศงดการขายน้ำมันให้คนทั่วไปเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ทำให้เกิดคำถามว่า แล้วประชาชนจะใช้ชีวิตกันอย่างไร

ศรีลังกากำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงไปอีกขั้น เมื่อทั้งประเทศกำลังจะไม่มีน้ำมันเชื้อเพลิงใช้ ส่งผลให้รัฐบาลประกาศงดการขายน้ำมันให้คนทั่วไปเป็นเวลา 2 สัปดาห์ 

ในช่วง 2 สัปดาห์จากนี้ จะมีเพียงรถประจำทาง รถไฟ และรถพยาบาลต่าง ๆ เท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เติมน้ำมันได้ ดังนั้นรัฐบาลจึงขอให้ประชาชน 22 ล้านคนทั้งประเทศ ทำงานจากที่บ้านแทน นับเป็นวิกฤตที่เลวร้ายลงไปอีกขั้นสำหรับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุดในรอบมากกว่า 70 ปี

ภาพรถที่จอดทิ้งไว้ใกล้สถานีบริการน้ำมันในศรีลังกาเป็นสิ่งที่ทั่วโลกได้เห็นมาหลายเดือนแล้ว แต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 10 ก.ค.พวกเขาจะไม่ได้เติมน้ำมัน เพราะทางการศรีลังกาต้องเก็บน้ำมันสำรองไว้เฉพาะการใช้งานที่จำเป็นเท่านั้น ได้แก่ระบบขนส่งสาธารณะ ยานพาหนะสำหรับใช้งานทางการแพทย์ และยานพาหนะที่ใช้ขนส่งอาหาร

สำหรับประชาชน คำถามใหญ่ คือ ไม่มีน้ำมันเชื้อเพลิงจะใช้ชีวิตกันอย่างไร เบื้องต้นรัฐแนะทำงานจากบ้าน 22 ล้านคน ปิดโรงเรียนในเขตเมืองทั้งหมด

หลายครอบครัวมองว่า มาตรการนี้จะสร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา เพราะยกตัวอย่างคนที่หาเช้ากินค่ำ ทำอาชีพขับรถรับจ้างสาธารณะ เมื่อวิ่งรถไม่ได้ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนไปซื้ออาหาร หรือจะทำงานจากบ้านอย่างไร บางบ้านจากเคยมีข้าวกินอิ่ม 3 มื้อ ขณะนี้ต้องลดลงมาเหลือแค่ 2 มื้อ และอาจลดลงเหลือวันละมื้อ

ยิ่งขาดแคลนพลังงาน สินค้าต่าง ๆ ค่าครองชีพยิ่งพุ่งสูง ยิ่งทำให้ประชาชนไม่พอใจและออกมาประท้วงอย่างต่อเนื่อง เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ราคาอาหารในศรีลังกาของปีนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 57 % จากหลายสาเหตุ ทั้งราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ค่าเงินรูปีศรีลังกาที่อ่อนลง และการห้ามใช้ปุ๋ยเคมีก่อนหน้านี้ซึ่งตอนนี้ยกเลิกไปแล้ว

รัฐบาลศรีลังกาออกมายอมรับเองว่า ประเทศไม่เคยเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงขนาดนี้มาก่อน สาเหตุหนึ่งที่ต้องใช้มาตรการเด็ดขาด เพราะสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เปิดเผยว่ามีน้ำมันสำรองในคลังเหลือใช้งานไม่ถึง 3 สัปดาห์ หากประเมินจากความต้องการเชื้อเพลิงปกติในแต่ละวัน

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (26 มิ.ย.2565) มีรายงานว่า คลังน้ำมันดีเซลเหลือเพียง 9,000 ตัน และน้ำมันเบนซินอีก 6,000 ตัน จึงต้องสงวนไว้ใช้เฉพาะที่จำเป็น เพราะปกติแต่ละวัน มีการบริโภคดีเซล 5,000 ตันและเบนซิน 3,000 ตัน

มาตรการงดขายน้ำมันเชื้อเพลิงให้คนทั่วไปนี้ ถือว่าเป็นมาตรการขั้นสุดที่สะท้อนถึงวิกฤตอย่างแท้จริง เพราะนักวิจัยด้านเชื้อเพลิงระบุว่า นี่เป็นประเทศแรกในโลกที่เลือกใช้มาตรการดังกล่าว นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์เชื้อเพลิงเมื่อทศวรรษที่ 1970 ซึ่งในขณะนั้น สหรัฐฯ และยุโรป ต้องใช้วิธีปันส่วนเชื้อเพลิง และบังคับจำกัดความเร็วในการใช้รถ เพื่อลดความต้องการใช้น้ำมันลง

นอกจากนี้ วันอาทิตย์ที่ผ่านมา บริษัท Ceylon Petroleum Corp บริษัทปิโตรเลียมหนึ่งเดียวของประเทศ ที่รัฐบริหาร ประกาศขึ้นราคาเชื้อเพลิงอีกครั้ง โดยขึ้นราคาเบนซิน 22 % เป็นลิตรละราว 54 บาท ขึ้นราคาดีเซล 15 % เป็นประมาณ 46 บาท/ลิตร แต่ยังไม่วายแก้ปัญหาได้ เพราะทางบริษัท มีหนี้กว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 24,500 ล้านบาท ทำให้ไม่มีประเทศหรือองค์กรใดอยากขายน้ำมันให้

ปัญหานี้ครอบคลุมไปถึงทุกมิติด้านพลังงาน อย่างถังแก๊สที่เรียงรายริมทางเท้าพร้อมคนที่คอยเฝ้า บางคนต้องนำโซ่มาคล้องถัง เป็นอีกความพยายามในการเข้าคิวรอเติมแก๊ส ส่วนถังที่เติมแล้วกำลังขนลงจากรถบรรทุก ต้องมีทหารติดอาวุธยืนรักษาความปลอดภัย เช่นเดียวกับทุกสถานีบริการน้ำมัน

ปีนี้ศรีลังกามีหนี้คงค้าง ที่กู้ยืมมาจากต่างประเทศ ซึ่งมีกำหนดชำระปีนี้มากถึง 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 245,000 ล้านบาท ขณะนี้ได้รอข้อตกลงจากเงินกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

รัฐบาลศรีลังการะบุว่า ต้องการเงิน 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อนำเข้าสินค้าจำเป็นต่าง ๆ สำหรับครึ่งหลังของปีนี้ (เชื้อเพลิง อาหาร ปุ๋ย แก๊สหุงต้ม)

นอกจากนี้ ทางการศรีลังกาเปิดเผยว่า ได้ส่งรัฐมนตรีไปรัสเซียและกาตาร์ เพื่อไปเจรจาเรื่องเชื้อเพลิง หลังจากเดือนที่แล้วซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซีย 90,000 ตันเพื่อเริ่มการกลั่น และกลางเดือนที่ผ่านมามีความพยายามเจรจาซื้อน้ำมันและถ่านหินจากตะวันออกกลาง

วิกฤตที่เกิดขึ้นยังทำให้มีประชาชนพยายามลักลอบอพยพออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก กองทัพเรือศรีลังกาสกัดเรือเล็กที่พยายามออกเดินทางไปออสเตรเลียได้เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ช่วง 2 สัปดาห์นี้จับได้มากกว่า 120 คนแล้ว

ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีหลายมาตรการที่รัฐบาลศรีลังกาพยายามนำมาต่อสู้วิกฤต เช่น ขึ้นภาษี ขอให้ชาวนาปลูกข้าวมากขึ้น และให้เจ้าหน้าที่รัฐหยุดงานเพิ่มพิเศษ 1 วันต่อสัปดาห์ เพื่อปลูกพืชที่ใช้กินเป็นอาหารได้ เพราะเกรงจะเกิดภาวะขาดแคลนในอนาคตอันใกล้ ศรีลังกามีลูกจ้างของรัฐประมาณ 1 ล้านคน จากประชากร 22 ล้านคน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง