ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตรวจเพิ่ม "ดิน-น้ำ" โรงงานราชบุรี ขีดเส้น 15 วันกำจัดถังสารเคมี

สิ่งแวดล้อม
30 มิ.ย. 65
17:42
389
Logo Thai PBS
ตรวจเพิ่ม "ดิน-น้ำ" โรงงานราชบุรี ขีดเส้น 15 วันกำจัดถังสารเคมี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 8 (ราชบุรี) เก็บตัวอย่างดินและน้ำเพิ่มเติม บริเวณจุดเพลิงไหม้โรงงานรีไซเคิล จ.ราชบุรี ตรวจสารปนเปื้อน พบในพื้นที่ยังมีกลิ่น และสารเคมีรั่วไหลจากถัง ขีดเส้น 15 วันต้องเคลื่อนย้ายไปกำจัด คาดยังเหลืออีกเกือบ 30,000 ถัง

วันนี้ (30 มิ.ย.2565) นายมนตรี เหลืองอิงคสุต ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามความคืบหน้าหลังเหตุเพลิงไหม้โรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรม แวกซ์ กาเบ็จ จ.ราชบุรี ร่วมกับนายอริยะ​ เชื้อชม​ ผอ.สนง.ทสจ. ราชบุรี​ และนายสมศักดิ์​ พลายมาต ผอ.ส่วนควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม​ สสภ.8


ต่อมาเวลา 13.30 น. นายมนตรี พร้อมทีมเจ้าหน้าที่ ทส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม อบต.รางบัว อบต.น้ำพุ ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงาน โดยไทยพีบีเอสได้ติดตามไปด้วย แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่ และมีกลุ่มชายประมาณ 10 คน เฝ้าตั้งแต่จุดเข้าทางสาธารณะเป็นถนนคอนกรีตที่ผ่ากลางระหว่างตัวโรงงานฝั่งซ้ายและขวา ไปจนถึงหน้าประตูทางเข้าโรงงาน ก่อนชายคนหนึ่งแจ้งว่า ไม่อนุญาต และให้ทีมข่าวออกจากพื้นที่

จากนั้นคณะเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่สำรวจเบื้องต้น บริเวณลำห้วยน้ำพุ ติดกับบ้านเรือนประชาชน ซึ่งห่างจากโรงงาน 400 เมตร

นายสมศักดิ์​ พลายมาต ผอ.ส่วนควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม​ สสภ.8​ ระบุว่า ผู้ตรวจราชการได้ลงมาดูพื้นที่โรงงานและการดำเนินงานโดยมีทีมงานกรมโรงงานอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อมภาค 8 มาร่วมเก็บตัวอย่างดินและน้ำในพื้นที่เกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงาน รวมทั้งบริเวณบ่อเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในพื้นที่ชุมชนรอบโรงงาน โดยส่งให้ห้องแล็บกรมควบคุมมลพิษตรวจสอบสารปนเปื้อน คาดว่าใช้เวลา 1 เดือน

ส่วนพื้นที่เกิดเหตุที่มีถังสารเคมี หรือการปนเปื้อนลงดินและน้ำในพื้นที่ จะต้องนำออกไปกำจัดตามคำสั่งของกรมโรงงานที่ได้มีหนังสือคำสั่งและติดประกาศหน้าโรงงาน 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยให้เวลาบริษัท 15 วัน เพื่อกำจัดกากของเสียและสารเคมี เฉพาะจุดที่เกิดเพลิงไหม้ และวันนี้มีข้อมูลว่า บริษัทรับกำจัดของเสียเข้ามาดูพื้นที่บ้างแล้ว เพื่อประเมินขั้นตอนการเคลื่อนย้าย ส่วนถังบรรจุกากของเสียที่เหลือในโกดังอื่น หรือจุดอื่นภายในโรงงานนั้น กรมโรงงานจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

คาดว่ายังเหลือถังสารเคมีเกือบ 30,000 ถัง ส่วนสภาพในโรงงาน มีกลิ่นออกมาจากโกดังเป็นกลิ่นสารเคมีที่รั่วไหลออกมาจากถัง โรงงานยอมรับว่ารั่วไหลออกมาจริง ๆ แต่จะพยายามจะกำจัดถังเหล่านี้ให้เร็วที่สุด เพื่อลดผลกระทบชาวบ้าน

ขณะที่การตรวจสอบบริเวณจุดเกิดเหตุไฟไหม้ ยังพบว่า ทางบริษัทให้ผู้รับเหมาทำคันดิน แต่ไม่ได้บดอัด เป็นการนำดินไปกองเท่านั้น เมื่อมีฝนตกทำให้น้ำไหลนองถนนยังอยู่ในพื้นที่บริษัท ไม่เห็นว่าน้ำไหลลงลำห้วย แต่คาดว่ามีการซึมลงใต้ดินตามธรรมชาติ จึงต้องตรวจสอบเพิ่มเติมต่อไป

นายสมศักดิ์ ยังกล่าวถึงภาพการเจาะกดถัง ว่า บริษัทชี้แจงว่าไฟไหม้ยังดับไม่สนิท ถังกองทับกันสูง ดังนั้นจึงมีการหารือกันว่า วิธีดับไฟต้องรื้อโครงหลังคาก่อน และใช้รถแบคโฮเกลี่ยถังลงมา โดยตำรวจให้ดำเนินการได้ภายใต้การกำกับดูแลของ อบต.รางบัว แต่ตนเองยังไม่เห็นหนังสือดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่ได้แนะนำว่าให้บีบอัดได้เฉพาะถังที่ไม่มีสิ่งของด้านใน แต่การทำงานจริงอาจไม่ละเอียดเพียงพอ จึงเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว


บางถังมีทั้งสีและสารปนอยู่ พอมีน้ำที่ใช้ดับเพลิงลงไปก็เป็นน้ำสี เพราะมีกากสี รถแบคโฮก็เกลี่ยหมด ไม่ได้ดูว่าถังไหนเป็นถังไหน อาจไม่เจตนา แต่เป็นเรื่องกระบวนการ ซึ่งน้ำพวกนี้ไหลไปกองอยู่ในถนน จึงมีคำสั่งให้กำจัดทั้งหมดภายใน 15 วัน ทั้งน้ำ ดิน ซากถัง


อย่างไรก็ตาม หากส่งกำจัดไม่แล้วเสร็จภายใน 15 วัน โรงงานสามารถขอขยายคำสั่งทางปกครองได้ แต่ต้องประเมินความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่โดยรอบด้วย กรณีที่โรงงานไม่ได้ดำเนินการได้ กรมโรงงาน หน่วยงานปกครองในพื้นที่ อบต. จะเข้ามาดำเนินการเอง และเรียกค่าใช้จ่ายกับบริษัท

ทั้งนี้ จะมีการดำเนินคดีเพิ่มเติมหรือไม่ ยังไม่มีคำสั่งจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพราะอยู่ในกระบวนการดับไฟ แต่ภาพภาพการกดเจาะถังเป็นข้อสงสัยว่ามีการแอบไปฝังกลบหรือไม่ หลังจากนี้หากดำเนินการนอกเหนือคำสั่งก็จะมีความผิด เพราะกระทำผิดเงื่อนไข

นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ได้ตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาผลกระทบจากบริษัทแวก กาเบจ และมีคณะอื่น ๆ ทำงานควบคู่กัน ทั้งคณะทำงานที่จะรวบรวมผลทางคดีตั้งแต่ก่อตั้งโรงงาน เพื่อติดตามความคืบหน้าและสรุปผล และคณะทำงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา

เรื่องน้ำยังไม่เห็นผลกระทบที่ชัดเจนจากเหตุเพลิงไหม้ แต่เรื่องเดิมมีอยู่แล้ว มีการปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยง่าย (vocs) และศาลพิพากษาแล้วว่าเกิดผลกระทบจริง ให้โรงงานชดเชยค่าเสียหายให้ชาวบ้าน แต่เรื่องเพลิงไหม้ต้องดูต่อไปว่า มีผลกระทบเพิ่มเติมหรือไม่

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

คพ.รับลูกชงประกาศ "เขตควบคุมมลพิษ" โรงงานรีไซเคิลราชบุรี

อบต.รางบัว​ โต้เอี่ยวแบคโฮเจาะถังสารเคมีหลังไฟไหม้โรงงาน

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง