วันนี้ (1 ก.ค.2565) ผู้สื่อข่าว รายงานว่า เวลา 09.00 น.วันนี้ ที่กระทรวงมหาดไทย มีการประชุมแก้ปัญหาและจัดระเบียบสายสื่อสารลงใต้ดิน มี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นประธาน โดยมี ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ตัวแทนจากสำนักงาน กสทช.เข้าร่วม ส่วนตัวแทนจาก กทม. ไม่ได้เข้าวันนี้ เนื่องจากประชุมร่วมกับ พล.อ.อนุพงษ์ ไปแล้วเมื่อวานนี้

สำหรับการประชุมวันนี้ ได้หารือถึงความเกี่ยวเนื่องของแผนงานนำสายสื่อสารลงดิน รวมถึงการจัดระเบียบสายไฟฟ้าที่เป็นงานดำเนินการต่อเนื่อง การจัดการสายสื่อสารที่รกรุงรัง รวมถึงสืบเนื่องจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ย่านสำเพ็ง ที่พบหม้อแปลงมีควัน และลามลุกไหม้สายสื่อสารจนไหม้ลามบ้านเรือนประชาชน เมื่อต้นสัปดาห์

หลังการประชุมใช้เวลาราว 2 ชม. พล.อ.อนุพงษ์ เปิดเผยกับไทยพีบีเอสว่า การหารือวันนี้พบว่าปัญหาสายสื่อสารที่ไปพาดอยู่บนเสาไฟฟ้านครหลวง และสายไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ส่วนหนึ่งทำให้เกิดเพลิงไหม้ทั้งที่สำเพ็ง และในต่างจังหวัดในบางเหตุการณ์ช่วงนี้ซึ่งส่งผลกระทบกับประชาชน ซึ่งการประชุมวันนี้จะพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร หรือนำสายไฟฟ้าลงดินให้รวดเร็วมากขึ้น

ขณะที่ ผู้ว่าฯ กฟน.ยืนยันพร้อมสนับสนุนสายสื่อสารต่าง ๆ ให้เรียบร้อย ส่วน กสทช.ในฐานะหน่วยกำกับดูแลผู้ประกอบการ จะพิจารณาว่า จะมีแนวทางเร่งรัดผู้ประกอบการสายสื่อสารดำเนินการได้อย่างไร รวมถึงยังมีความจำเป็นที่ยังต้องมีสายสื่อสารพาดสายกันอยู่ แต่ต้องจัดการให้เป็นระเบียบเรียบร้อย

รวมถึงอาจแบ่งแนวดำเนินงานออกเป็นเฉพาะโซนพื้นที่เพื่อดำเนินการให้เร็วขึ้น โดยแยกเป็นเฟส โดยผลหารือสรุปเห็นตรงกันว่า จะไปเร่งดำเนินการ และหารือกับผู้ประกอบการสายสื่อสารให้ดำเนินการตามความรับผิดชอบของตัวเองให้มากขึ้น และเก็บสายตายที่ไม่ได้ใช้ให้เสร็จโดยเร็วที่สุด

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับพื้นที่กรุงเทพ หรือ ภูมิภาค จะดำเนินการไปพร้อมกัน เช่นพื้นที่ถนนสายหลักต่าง ๆ การพาดสาย จะให้ผู้ประกอบการรวมสายของตัวเอง โดยรวบใส่กล่องจำนวนไม่เกิน 3 สายต่อหนึ่งกล่อง และจะเตรียมกล่องที่วางพาดไว้ให้เรียบร้อย

ขณะนี้ผู้ประกอบการแต่ละราย ต้องไปคุยกันว่าจะดำเนินการพาดผ่านเส้นทางไหน เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการทีละรายได้โดย สำนักงาน กสทช.ต้องไปหารือกับผู้ประกอบการสายสื่อสารเพื่อรวมสายให้ได้
ถ้ารวมสายได้กล่องละ 3 เส้น ภาพรวมขณะนี้ มีผู้ประกอบการสายสื่อสารอยู่ประมาณกว่า 10 ราย เมื่อรวมกันได้ก็จะอยู่ร่วมกันได้โดยไม่รุงรัง และสายที่ที่ไม่เกี่ยวข้องก็ต้องเก็บ ยกเลิกไปจะลดความรุงรังได้มาก
ส่วนเส้นทางถนนสายรอง จะมีเทคนิคที่ผู้ประกอบการต้องร่วมมือกันนำสายไปเข้ากล่องรวมสาย แล้วนำทุกสายไปโยงเข้ากล่อง จากนั้นจึงแยกออกไปตามชุมชนตามการโยงร้อยกระจายไปเข้าบ้านประชาชน ซึ่งตามตรอกซอยต่าง ๆ จะใช้วิธีแบบนี้ ดังนั้นหากแต่ละบริษัทวางสายกันเอง ก็จะทำให้เกิดปัญหาสายไฟเยอะเหมือนเช่นเดิมอีก
ประเด็นเหล่านี้ ต้องหารือกันอย่างละเอียด และ กสทช. ต้องใช้เวลาไปดู รวมถึงดูว่าผู้ประกอบการจะทำได้หรือไม่ ผู้ประกอบการติดขัดอะไรไรหรือไม่ ติดเรื่องเงินทุนหรือไม่ ซึ่ง กสทช. มีหน้าที่ในการสนับสนุนและส่งเสริมทำให้ทุกอย่างเร็วขึ้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
กทม.สั่ง กฟน.หยุดนำสายไฟฟ้าลงดิน 3 วันใน 3 เส้นทาง เหตุคืนพื้นผิวไม่เรียบร้อย
กทม.หารือ กฟน.จัดระเบียบ "สายไฟฟ้า" ลงดิน ยกระดับกรุงเทพฯ
กฟน.เปิดแผนเก่า-ใหม่ลากสายไฟลงใต้ดิน ยืนยันไร้ปัญหาจากน้ำท่วม-รั่วซึม
เริ่มแล้ว ย้ายสายไฟลงใต้ดิน เตรียมพบโฉมใหม่ ถ.ราชวิถี ส.ค.นี้
กฟน.ย้ายสายไฟลงใต้ดินเร็วกว่าแผนงาน 5 ปี-ใช้งบฯ 48,000 ล้านบาท