วันที่ 3 ก.ค.2565 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Anan Jongkaewwattana" เกี่ยวกับ COVID-19 สายพันธุ์ BA.2.75 ว่า
คาดว่าอีกไม่นานไวรัสสายพันธุ์ BA.2.75 จะมีการพูดถึงในสื่อมากขึ้น ข้อมูลขณะนี้พบไวรัสสายพันธุ์นี้ในอินเดียเป็นส่วนใหญ่ แต่พบว่าหลายประเทศมีการรายงานไวรัสสายพันธุ์นี้แล้ว เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ไวรัสสายพันธุ์นี้ได้รับความสนใจด้วยเหตุผล 2 ประการหลัก คือ
- เป็น BA.2 ที่มีการกลายพันธุ์เพิ่มถึง 9 ตำแหน่งบนโปรตีนหนามสไปค์ (เทียบกับ BA4/BA5) แต่เนื่องจากตำแหน่งที่ 493 (R493Q) เป็นการเปลี่ยนกลับจากโอมิครอน ไปเหมือนสายพันธุ์ดั้งเดิม ทำให้บางคนนับว่าเป็น 8 ตำแหน่ง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงที่มากกว่าปกติ โดยเฉพาะตำแหน่งที่ 446 ซึ่งเปลี่ยนจาก G (Glycine) ไปเป็น S (Serine) G446S เคยมีคนพูดถึงว่าเป็นตำแหน่งที่ทำให้ไวรัสหนีภูมิจากการจับของแอนติบอดีได้มากขึ้น
- ข้อมูลของจำนวนตัวอย่างไวรัสที่ถอดรหัสในอินเดีย พบการเพิ่มจำนวนของสายพันธุ์นี้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในรัฐมหาราษฏระ ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของสายพันธุ์อย่างเดลตามาก่อน มีผู้พยายามเปรียบเทียบความสามารถของ BA.2.75 กับ BA.5 ในการแพร่กระจาย มีแนวโน้มว่า BA.2.75 จะวิ่งได้ไวกว่า แต่เนื่องจากตัวอย่างยังมีไม่มาก ทำให้ความน่าเชื่อถือของข้อมูลยังมีน้อย ทั้งนี้ยังไม่มีประเด็นเรื่องของความรุนแรงของเชื้อชนิดนี้ออกมา คงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด