การช่วยเหลือคนไทย 18 คน จาก จ.พระสีหนุ ประเทศกัมพูชา กลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2565 เกิดขึ้นหลังจากผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่งไลฟ์ทางเฟซบุ๊ก ขอความช่วยเหลือจากไชน่าทาวน์ จ.พระสีหนุ ประเทศกัมพูชา หาทางกลับประเทศไทยในคืนวันที่ 16 มิ.ย. 2565 บอกเล่าชะตากรรมตัวเองที่ถูกหลอกไปทำงาน และ กำลังจะถูกขายต่อให้นายจ้างคนอื่น เช่นเดียวกับคนไทย 30 – 50 คน ที่ทำงานอยู่ในอาคารหลังเดียวกัน สาเหตุเพราะทำยอดหลอกเงินจากคนไทยไม่ได้ตามที่นายจ้างกำหนด
ตอนนี้ผมอยู่สีหนุ ไชนาทาวน์ กำลังจะโดนขายไม่วันนี้ก็วันพรุ่งนี้ คนไทยเยอะมากตอนนี้ที่โดนหลอกมาเหมือนกัน ไม่รู้จะตายหรือจะรอด ช่วยแชร์กันหน่อยครับคนไทยทุกคนผมขอร้อง ผมไม่ไหวจริงๆ ผมและคนไทยอีก 30 - 40 คนที่โดนหลอกมาอย่างกับอาหารพวกของใข้ขายกันได้ คนไทยขายกันเองครับ ช่วยผมหน่อยครับ
ร.ต.อ.กฤษณะ เอี่ยมสอาด รองสารวัตร กองกำกับการสืบสวน ภ.จว.สระแก้ว ชุดทำงานศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) ได้พูดคุยกับคนไทยกลุ่มนี้แล้ว พร้อมกับให้ข้อมูลว่า นอกจาก คนไทยอายุตั้งแต่ 15 – 35 ปี รวม 18 คน ที่ช่วยเหลือมาในครั้งนี้ ยังมีคนไทยอีกประมาณ 50 คน ที่ถูกขายต่อไปยังนายจ้างชาวจีนอื่นๆ ใน จ.พระสีหนุ ยังอยู่ระหว่างเร่งประสานความช่วยเหลือ
ตั้งแต่ ต.ค. 2564 ถึง ปัจจุบัน ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ( ศพดส.ตร. ) ดำเนินการช่วยเหลือคนไทยลักลอบเดินทางไปทำงานที่ประเทศกัมพูชา และถูกบังคับให้ทำงานที่ผิดกฎหมายหรือหลอกลวงคนไทยด้วยกันเอง รวม 26 ครั้ง มีคนไทยได้รับความช่วยเหลือ 857 คน
คนไทยที่ถูกช่วยเหลือกลับประเทศต้องเข้าสู่กระบวนการคัดแยกว่าเป็นผู้เสียหายในขบวนการค้ามนุษย์หรือไม่ ซึ่งผลการคัดแยกพบว่าจากทั้งหมด 857 คน พบเป็นผู้เสียหายจากขบวนการค้ามนุษย์ 275 คน อีก 582 คนจะถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนั้น ตำรวจยังออกหมายจับผู้ต้องหาเครือข่ายนำพาคนไทยไปทำงานผิดกฎหมาย ทั้งหมด 107 หมาย 37 คดี และ ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ อีก 20 คดี ออกหมายจับผู้ต้องหา 82 หมาย
การกวาดล้างขบวนการนำพาคนไทยไปทำงานผิดกฎหมาย ยังมีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐ 4 คน คือ สท.โคกสูง เขต 2 จ.สระแก้ว ในข้อหาร่วมกันค้ามนุษย์ ส่วนอีก 3 คน เป็นทหารพราน 1 คน และอาสาสมัครทหารพราน 2 คน สังกัดหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 12 ทั้งหมดถูกดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันจัดหางานฯ ตาม พ.ร.บ.จัดหางานฯ และ ร่วมกันนำพาคนไทยออกไปต่างประเทศ
แต่ภารกิจช่วยเหลือคนไทยที่ถูกบังคับทำงาน และ อาจตกเป็นผู้เสียหายคดีค้ามนุษย์ในกัมพูชายังไม่ยุติ ยังมีคนไทยมากกว่า 1,000 คน รอความช่วยเหลือ
คนไทยที่ข้ามแดนไปทำงานผิดกฎหมายที่ประเทศกัมพูชา และ ขอความช่วยเหลือกลับประเทศ ทั้งหมดมีนายจ้างเป็นชาวจีน บังคับให้ทำงานหลอกคนไทย เช่น หลอกให้ลงทุน , คอลเซ็นเตอร์ , หลอกปล่อยเงินกู้
นายจ้างชาวจีนที่ทำธุรกิจลักษณะนี้จะอยู่ในหลายพื้นที่ เช่น จ.พระสีหนุ กรุงพนมเปญ และปอยเปต ซึ่งหากคนไทยไม่สามารถทำงานได้จะถูกบังคับขู่เข็ญ ทำร้ายร่างกาย ขายต่อให้นายจ้างชาวจีนในธุรกิจอื่นๆ และ หากคนใดต้องการกลับประเทศต้องเสียเงินค่าไถ่ตัวเองตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักหลายแสนบาท
รายงานประจำปี เรื่อง สถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) เป็นรายงานที่กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ จัดทำขึ้นเป็นประจำทุกปี ตามกฎหมายว่าด้วยการปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ (Trafficking Victims Protection Act of 2000 หรือ TVPA) เพื่อรายงานต่อรัฐสภา สหรัฐฯ โดยเปรียบเทียบสถานการณ์การค้ามนุษย์ของทั่วโลกกับมาตรฐานของสหรัฐฯ และ จัดลำดับประเทศต่างๆ ออกเป็น 4 ระดับ ระดับต่ำสุดคือ Tier 3
เมื่อปี 2557 - 2558 ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในบัญชีประเภท 3 ( Tier 3 ) หรือ ระดับต่ำสุด เพราะมองว่าไทยเป็นทั้งประเทศต้นทาง ทางผ่าน และปลายทางของขบวนการค้ามนุษย์
ผลกระทบหนึ่งของการถูกจัดอยู่ในบัญชีประเภท 3 คือ การเปิดทางไปสู่การใช้มาตรการการคว่ำบาตรทางการค้าจากรัฐบาลสหรัฐฯ แต่หลังจาก ไทยประกาศให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2558 ไทยได้รับการจัดอันดับไปอยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watchlist) 2 ปีติดต่อกัน ( 2559 – 2560 ) และ ขยับเป็นเทียร์ 2 อีก 3 ปี ( 2561 – 2563 ) ซึ่งนับเป็นสถานะที่ดีที่สุดของประเทศไทย
ปี 2564 ไทยตกไปอยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watchlist) อีกครั้ง และ หากในปีนี้สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น หรือ ยังถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Tier 2 Watchlist ปีหน้าไทยอาจถูกปรับลดระดับสู่บัญชีประเภท 3 หรือ Tier 3 โดยอัตโนมัติ นี่เป็นสาเหตุสำคัญให้ไทยต้องแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจังเพื่อให้นานาชาติประจักษ์
15 – 18 พ.ค. 2565 คณะผู้แทนไทยเข้าพบปะหารือ เรื่อง การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ที่กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ โดยแสดงถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทย มีการสรุปผลงาน ภาพรวมของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และ การช่วยเหลือผู้เสียหายที่จากการค้า มนุษย์ รวมทั้ง การดําเนินคดีผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้ สหรัฐฯ เห็นถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ของประเทศไทย
มีรายงานว่า สหรัฐฯ ให้ความสนใจ และ ซักถามรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการดําเนินการช่วยเหลือคน ไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะแนวทางการประสานงานช่วยเหลือคนไทยจากประเทศกัมพูชา และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมทั้งสถิติการดําเนินคดีกับผู้ต้องหาค้ามนุษย์ของไทยที่มีการดําเนินคดีที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด และยังมีจํานวนคดีที่สั่งไม่ฟ้องลดลงอย่างน่าพอใจซึ่งเป็นผลจากการประสานงานให้พนักงานอัยการร่วมกับพนักงานสอบสวนตรวจสำนวนคดีก่อนส่งฟ้องเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ครบถ้วน