บ้านเราอากาศดี ทำไมต้องมาเจอมลพิษด้วย ตอนแรกรู้ว่าเป็นโรงงานรีไซเคิล คิดว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่ตอนหลังรู้ว่ามีสารเคมี มีการรั่วไหล ก็กังวล ไม่อยากให้มีสารเคมีอยู่ใกล้โรงเรียนหรือนักเรียนต้องการอากาศบริสุทธิ์
หนึ่งในครูโรงเรียนบ้านหนองนกกระเรียน ในต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ให้ข้อมูลกับไทยพีบีเอส ว่า โรงเรียนแห่งนี้อยู่ห่างจากโรงงานแวกซ์ กาเบจ รีไซเคิล ที่เกิดเหตุเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2565 เพียง 3 กิโลเมตร ทำให้ได้รับผลกระทบจากโรงงานในวันเกิดเหตุเพลิงไหม้ ตั้งแต่เวลา 08.00 น.
เหตุการณ์วันนั้นนักเรียน 188 คน ตั้งแต่ชั้น อ.2 ถึง ม.3 ยืนเข้าแถวก่อนเข้าชั้นเรียน ท่ามกลางควันไฟที่ปกคลุมไปทั่วพื้นที่ เด็กหลายคนคอแห้ง ต้องดื่มน้ำมาก ครูบางส่วนมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย
นี่ไม่ใช่ ครั้งแรกที่โรงเรียนได้รับผลกระทบจากโรงงาน เพราะทุกครั้งที่มีฝนตกหนัก กลิ่นเหม็นจนแสบจมูกจะลอยคลุ้งมาถึงโรงเรียน จนกว่าฝนจะหยุดตก
ไม่เพียงกลิ่นเหม็นจากสารเคมีในวันฝนตก แต่โรงเรียนยังกังวลถึงสุขภาพนักเรียนจนต้องสั่งซื้อน้ำดื่มมาให้นักเรียนดื่มทุกวัน แต่ด้วยข้อกังวลว่าโรงงานผลิตน้ำดื่ม ละแวกใกล้เคียงจะมีสารปนเปื้อนหรือไม่ จึงตัดสินใจสั่งซื้อน้ำจากตำบล และอำเภออื่น โดยต้องยอมเพิ่มค่าใช้จ่าย เพื่อความปลอดภัยของนักเรียน
ไทยพีบีเอส ยังพบว่าโรงเรียนวัดน้ำพุ ต.น้ำพุ อ.เมืองราชบุรี เป็นอีกหนึ่งโรงเรียนที่อาจได้รับผลกระทบจากโรงงานแห่งนี้ เพราะอยู่ห่างจากโรงงานราว 10 กิโลเมตร ด้านหลังโรงเรียน มีลำห้วยน้ำพุ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไหลผ่าน หลังโรงงานขยะรีไซเคิล
ไพรฑูรณ์ เฉลิมดิษฐ ผู้อำนวยการโรงเรียน ยอมรับว่า ตั้งแต่อยู่โรงเรียนแห่งนี้มานาน 3 ปี ยังไม่เคยเห็นปลาในลำห้วยมาก่อน และปัจจุบันผู้นำชุมชนรวมถึงชาวบ้านก็ไม่นำน้ำจากลำห้วยมาใช้อุปโภค บริโภคอีกแล้ว
ก่อนหน้าเคยมีเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำ มาตรวจน้ำในลำห้วยน้ำพุ แต่ไม่พบว่ามีสารอะไร และโรงเรียน ก็ยังไม่มีรายงานเด็กได้รับสารพิษจนต้องไปโรงพยาบาล
สอดคล้องกับคำบอกเล่าของนักเรียนชั้น ม.3 ของโรงเรียน เกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันเกิดเพลิงไหม้ว่า แม้โรงเรียนจะมีระยะห่างจากโรงงานพอสมควร แต่ควันไฟก็ลอยมาถึง และก่อนหน้านี้ก็เคยเกิดเหตุโรงงานระเบิดจนไฟไหม้มาแล้ว 1 ครั้ง ทำให้รู้สึกกังวล และห่วงสุขภาพผู้สูงอายุที่บ้าน ว่าควันจากโรงงานอาจเป็นมลพิษต่อร่างกายได้
เปิดผลตรวจโลหะหนักชาวบ้าน เกินค่าอ้างอิงนับร้อยคน
พื้นที่ ต.น้ำพุ มีประชากร 5,643 คน ใน 6 หมู่บ้าน นับเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานดังกล่าว โดยมีข้อมูลว่า มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งด้านกลิ่น น้ำปนเปื้อน ด้านสุขภาพ และคุณภาพชีวิต จำนวน 725 คน หรือ 246 ครัวเรือน ส่งผลให้ประชาชนที่เดือดร้อนรวมตัวกัน เพื่อฟ้องร้องกับโรงงานเพื่อเรียกค่าเสียหาย การต่อสู้ที่ยาวนานกว่า 20 ปี เป็นระยะเวลาเดียวกับที่ประชาชนรู้สึกได้ถึงร่างกายและสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไป และกังวลเกี่ยวกับการรับสารปนเปื้อน
ไทยพีบีเอสได้รับข้อมูลจากคนในพื้นที่ พบว่า ก่อนหน้านี้ อบต.น้ำพุ ได้อนุมัติงบฯ จากกองทุนหลักประกันสุขภาพ เพื่อจัดทำโครงการเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนผู้รับผลกระทบจากสถานประกอบการจัดการขยะรีไซเคิล ทั้งยังได้ร่วมมือกับ สสจ.ราชบุรี โรงพยาบาลราชบุรี และ รพ.สต.น้ำพุ เพื่อตรวจร่างกายหาโลหะหนักของประชาชนในพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2559 -2564 รวม 467 คน โดยทุกปีพบมีสารโลหะหนักแตกต่างกันไป และเริ่มพบสารโลหะหนักหลายตัวในปีเดียวกัน
ภาพรวมพบแมงกานีสเกินค่าอ้างอิง 347 คน ตะกั่วเกินค่าอ้างอิง 6 คน นิกเกิลเกินค่าอ้างอิง 184 คน และสารหนูเกินค่าอ้างอิง 116 คน
แม้จะชนะคดี เมื่อปลายปี 2563 แต่ผู้ได้รับผลกระทบ ยังรอเงินเยียวยาจากโรงงานเพื่อชดเชยกับความเสียหาย เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการอุทธรณ์ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พวกเขาคาดหวังมากที่สุด และเป็นเป้าหมายในการเดินหน้าสู้ คือ การให้โรงงานยุติกิจการเพื่อไม่ให้เกิดสารปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมในบ้านเกิดของพวกเขาต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตรวจเพิ่ม "ดิน-น้ำ" โรงงานราชบุรี ขีดเส้น 15 วันกำจัดถังสารเคมี
ชาวสวนใกล้โรงงาน โอดสารเคมีปนเปื้อนลำห้วย 20 ปียังแก้ไม่ได้
คพ.รับลูกชงประกาศ "เขตควบคุมมลพิษ" โรงงานรีไซเคิลราชบุรี
อบต.รางบัว โต้เอี่ยวแบคโฮเจาะถังสารเคมีหลังไฟไหม้โรงงาน