วันนี้ (11 ก.ค.2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ที่มีนายชัชชาติ สิทธพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน มีข้อสรุปสำหรับเรื่องจัดเก็บค่าขยะ ที่สำนักสิ่งแวดล้อม ได้เสนอการพิจารณากำหนดวันบังคับใช้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ.2562
ผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบัน กทม.ใช้งบประมาณกว่า 8,000 ล้านบาทต่อปี ในการจัดการขยะ แต่สามารถจัดเก็บค่าขยะได้เพียง 500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนไม่มากหากเทียบกับค่าจัดการขยะดังนั้นจึงจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) ในวันที่ 29 ส.ค.นี้ เพื่อขอความเห็นชอบ เลื่อนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเก็บขนสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยอัตราใหม่ จาก 20 บาท เป็น 80 บาท ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 1 ต.ค.2565 ออกไปอีก 1 ปี
เกรงว่าจะไปซ้ำเติมประชาชนด้วยเศรษฐกิจแบบนี้จัดเก็บขยะจาก 20 บาทเป็น 80 บาทจึงเสนอเลื่อนการจัดเก็บอัตราใหม่ต่อไปอีก 1 ปีจากเดิมที่จะบังคับใช้ต.ค.ปีนี้ โดยจะเสนอเข้าสภาฯกทม.29 ก.ค.นี้
นอกจากนี้นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ควรลดต้นทุนในการจัดการขยะ ที่กทม.ต้องใช้งบประมาณ 10,000 ล้านต่อปี มากกว่าการไปเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียม โดยการรณรงค์แยกขยะด้วยแนวคิดขยะเป็นทองคำ โดยการเพิ่มแรงจูงใจในการแยกขยะ ซึ่งสามารถนำไปรีไซเคิล และใช้ประโยชน์หรือนำไปขายได้
เชื่อว่าหากมีการคัดแยกขยะ จะสามารถลดค่าจัดการขยะที่กทม.ต้องเสียปีละ 8,000 ล้านบาทได้อย่างแน่นอน
ส่วนความชัดเจน หากมีการเลื่อนการจัดเก็บขยะครั้งนี้ออกไปอีก 1 ปี ในวาระการดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.4 ปีนี้ จะมีการจัดเก็บตามอัตราใหม่หรือไม่ เพราะแม้จะมีการจัดเก็บค่าขยะอัตราใหม่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อค่าบริหารจัดการขยะ ซึ่งกทม.ยังต้องใช้จ่ายงบประมาณในการบริหารจัดการขยะปีละหลายพันล้านบาท
ชี้ต้นทุนค่าจัดการขยะปีละ 8,000 ล้าน
นายชัชชาติ กล่าวว่า ปัจจุบัน กทม.จัดเก็บค่าขยะได้ประมาณ 600 ล้านบาท ขณะที่ค่าบริหารจัดการขยะ กทม.ต้องใช้งบประมาณกว่า 8,000 ล้านบาทต่อปี จึงอยากให้โฟกัสเรื่องการลดค่าใช้จ่ายมากกว่า เพราะการขึ้นค่าจัดเก็บขยะเป็นภาระของประชาชน ข้อเท็จจริงเป็นสิ่งที่รัฐต้องให้บริการพื้นฐานอยู่แล้วทั้งนี้ หากมีการจัดเก็บค่าขยะอัตราใหม่ จะทำให้มีรายได้ในส่วนนี้จาก 500 ล้าน เป็นประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่ประชาชนต้องจ่ายมากขึ้น ซึ่งประชาชนอาจมีข้อจำกัดมากกว่าภาคเอกชน
หากประกาศขึ้นค่าขยะอัตราใหม่ ภาคเอกชนขายขยะ หรือรีไซเคิลขยะได้มีประสิทธิภาพมากกว่า อาจทำให้ขยะลดน้อยลงด้วย ปัจจุบันค่าขยะมาจากบ้านเรือนประชาชน คอนโด ที่อยู่อาศัย ประมาณ 60% มองว่าประชาชนที่มีศักยภาพในการรีไซเคิลขยะ หรือนำขยะไปขายได้น้อยกว่าภาคเอกชน
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องคิดให้รอบคอบ รูปแบบการจัดเก็บขยะที่เลื่อนการจัดเก็บตั้งแต่ปี 2562 ยังนับนับน้ำหนักขยะเป็นหลัก ไม่ได้คิดถึงแรงจูงใจในการบริหารจัดการขยะ เช่นการคัดแยกขยะ จึงต้องคิดให้รอบคอบเรื่องข้อบัญญัติการจัดเก็บขยะอีกครั้งหนึ่ง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
1 ต.ค.นี้ กทม.เริ่มเก็บค่าขยะบ้านละ 80 บาทต่อเดือน