ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ภาพแรกสุดชัดจากเจมส์ เว็บบ์ "กระจุกกาแล็กซี SMACS 0723"

Logo Thai PBS
ภาพแรกสุดชัดจากเจมส์ เว็บบ์ "กระจุกกาแล็กซี SMACS 0723"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สหรัฐอเมริกา เปิดภาพแรกของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ ซึ่งเป็นภาพกระจุกกาแล็กซี SMACS 0723 เรียกได้ว่าเป็นภาพ “Deep Field” หรือภาพอวกาศห้วงลึกภาพแรกของกล้อง

วันนี้ (12 ก.ค.2565) เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยแพร่รูปภาพ พร้อมข้อความ ระบุว่า โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เปิดภาพแรกของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ (James Webb Space Telescope: JWST) เป็นภาพกระจุกกาแล็กซี SMACS 0723 ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นภาพ “Deep Field” หรือภาพอวกาศห้วงลึกภาพแรกของกล้อง แสดงให้เห็นกาแล็กซีนับพันที่ยังไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน รวมถึงกาแล็กซีที่อยู่ห่างไกลออกไปที่สุดกาแล็กซีหนึ่งที่เราเคยค้นพบในปัจจุบัน

ภาพนี้เป็นภาพกระจุกกาแล็กซี SMACS 0723 อยู่ห่างออกไป 4,600 ล้านปีแสง นั่นเท่ากับว่าเรากำลังสังเกตแสงที่ออกมาจากกระจุกกาแล็กซีนี้ ตั้งแต่ยุคที่ระบบสุริยะเพิ่งจะเริ่มก่อตัวขึ้น แรงโน้มถ่วงอันมหาศาลของ SMACS 0723 นั้น มากเพียงพอที่จะเบี่ยงเบนทางเดินของแสงจากกาแล็กซีเบื้องหลังที่อยู่ห่างออกไป จึงประพฤติตัวประหนึ่งดั่ง “แว่นขยาย” ในเอกภพ ทำให้สามารถเป็นภาพของกาแล็กซีที่อยู่ห่างออกไปขยายขึ้นเป็นส่วนโค้งที่ถูกยืดออกไปรอบ ๆ กระจุกกาแล็กซีในภาพ ซึ่งเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “เลนส์ความโน้มถ่วง” (gravitational lensing)

ในภาพนี้ จะสังเกตเห็นโครงสร้างหกแฉกสว่างได้ประปรายทั่วไปในภาพ วัตถุสว่างเหล่านี้เป็นดาวฤกษ์เบื้องหน้าที่อยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา ระบบทัศนูปกรณ์ของ JWST และแกนยึดกระจกทุติยภูมิทั้งสามทำให้แสงดาวฤกษ์เหล่านั้นถูกเบี่ยงออกเป็นรูปหกแฉกดังที่เห็น

นอกจากนี้ หากสังเกตภาพนี้อย่างละเอียด จะพบว่าภาพนี้เต็มไปด้วยจุดเล็ก ๆ ในภาพเป็นจำนวนมาก จุดแต่ละจุดในภาพเป็นแสงที่ออกมาจากดวงดาวนับร้อยล้านดวงของอีกกาแล็กซีหนึ่ง ท่ามกลางกาแล็กซีอีกมากมายในเอกภพที่อยู่ห่างไกลออกไปนอกเหนือขอบเขตของกาแล็กซีของเรา โดยกาแล็กซีทั้งหมดที่เห็นอยู่ในภาพนี้เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งบนท้องฟ้า และมีขนาดไม่ใหญ่ไปกว่าเม็ดทรายหนึ่งเม็ดที่ปลายแขนของเราเพียงเท่านั้น

ภาพ : NASA, ESA, CSA, and STScI

ภาพ : NASA, ESA, CSA, and STScI

ภาพ : NASA, ESA, CSA, and STScI


สิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดในภาพนี้ คือ เหล่ากาแล็กซีสีส้มแดงที่ถูกขยายออกโดยเลนส์ความโน้มถ่วง กาแล็กซีเหล่านี้เป็นหนึ่งในกาแล็กซีที่อยู่ห่างไกลที่สุดที่สามารถสังเกตได้ในเอกภพ จึงเปรียบได้กับการมองย้อนไปในอดีต หลังจากเอกภพถือกำเนิดขึ้นได้ไม่นาน และดวงดาวดวงแรกๆ ในเอกภพเพิ่งจะเริ่มลุกสว่างขึ้นในกาแล็กซีแรกๆ ที่ก่อตัวขึ้น

หากพิจารณากาแล็กซีเหล่านี้โดยละเอียด จะสังเกตเห็นจุดส้มสว่างที่ล้อมรอบกาแล็กซีเหล่านี้ แสดงถึงบริเวณก่อกำเนิดดาวฤกษ์ (star-forming region) ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ยังไม่เคยมีกล้องโทรทรรศน์ใดมีขีดความสามารถเพียงพอที่จะสังเกตเห็นได้ในช่วงคลื่นอินฟราเรดด้วยความละเอียดในระดับนี้

ภาพถ่ายนี้ถูกบันทึกเอาไว้ในช่วงความยาวคลื่นอินฟราเรดหลายช่วงคลื่นโดยอุปกรณ์ NIRCam ใช้เวลาเปิดหน้ากล้องรวมประมาณ 12.5 ชั่วโมง นับเป็นภาพที่มองเห็นได้ “ลึก” ที่สุดเท่าที่เราเคยเห็นมาในช่วงคลื่นอินฟราเรด ลึกเกินกว่าขีดความสามารถของฮับเบิลที่ใช้เวลารวมแสงด้วยกันหลายอาทิตย์

ทั้งนี้ ภาพดังกล่าวเป็นภาพสีภาพแรกของ JWST ที่เปิดเผยออกมา และในคืนนี้ (12 กรกฎาคม 2565) เวลา 21.30 น.ตามเวลาประเทศไทย องค์การอวกาศนาซาจะเปิดเผยภาพที่เหลืออีก 3 ภาพ และสเปกตรัมของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะอีก 1 ภาพ ให้ได้ชมกัน

 

อ้างอิง : NASAWhitehouse

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง