วันนี้ (12 ก.ค.2565) นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกันผลักดันเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย (Dark Sky in Thailand) ให้เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ของนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ และเป็นการรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงมลภาวะทางแสง
ทั้งนี้มีอุทยานแห่งชาติ 5 แห่งของกรมอุทยานฯ ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง จ.เชียงใหม่ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราชธานี อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม และอุทยานแห่งชาติภูแลนคา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ ได้รับคัดเลือก และเข้ารับโล่พร้อมใบประกาศรับรองการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่อนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ประจำปี 2565 จากนายศรัณย์ โปษยะจินดา ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
นอกจากอุทยานท้องฟ้ามืดทั้ง 5 แห่งแล้ว ยังมีชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล และเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง อีกจำนวน 7 แห่ง รวม 12 แห่ง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย
12 แห่งแรกของไทยขึ้นทะเบียนท้องฟ้ามืด
สถานที่รับการขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย 12 แห่ง มีดังนี้
- อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง จ.เชียงใหม่ ประเภท อุทยานท้องฟ้ามืด
- อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราชธานี ประเภท อุทยานท้องฟ้ามืด
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-ทุ่งกระมัง จ.ชัยภูมิ ประเภท อุทยานท้องฟ้ามืด
- อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม จ.ชัยภูมิ ประเภท อุทยานท้องฟ้ามืด
- อุทยานแห่งชาติภูแลนคา จ.ชัยภูมิ ประเภท อุทยานท้องฟ้ามืด
- ชุมชนออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ประเภท ชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด
- ไร่องุ่นไวน์ อัลซิดินี่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ประเภท เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดส่วนบุคค8
- โรงแรมเรนทรี เรซิเดนซ์ เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ประเภท เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดส่วนบุคคล
- สนามมวกเหล็ก เอทีวี อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ประเภท เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดส่วนบุคคล
- บ้านไร่ยายชะพลู อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ประเภท เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดส่วนบุคคล
- เดอะเปียโน รีสอร์ทอ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ประเภท เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดส่วนบุคคล
- ไร่องุ่นไวน์กราน-มอนเต้ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ประเภท เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดส่วนบุคคล
สถานที่ที่ขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในแต่ละรูปแบบ จะได้รับการรับรองจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ว่าเป็น “แหล่งท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ในประเทศไทย” ที่มีความพร้อมตามหลักเกณฑ์ เช่น คุณภาพท้องฟ้า การบริหารจัดการแสงสว่าง และความเหมาะสมของพื้นที่สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ อีกทั้งสถานที่ที่ขึ้นทะเบียนจะได้รับการสนับสนุนข้อมูล สื่อดาราศาสตร์ และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในช่องทางต่างๆ ให้ประชาชนและผู้สนใจรับทราบอย่างทั่วถึง