วันนี้ (22 ก.ค.2565) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรค "ฝีดาษลิง" ว่า กรณีพบผู้ป่วยยืนยันคนแรกที่ จ.ภูเก็ต เป็นชายชาวไนจีเรียนั้น จ.ภูเก็ต ได้ค้นหาผู้ป่วยและเฝ้าระวัง โดยได้รับรายงานจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.ภูเก็ต ว่าพบชายชาวไนจีเรีย อายุ 27 ปี มีอาการต้องสงสัยเข้าได้กับโรคฝีดาษาลิง เพราะมีตุ้มขึ้นที่ใบหน้า ลำตัว แขน ขา รวมถึงอวัยวะเพศ
จากนั้นส่งตรวจที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ พบว่า มีผลบวกต่อโรคฝีดาษลิง และมีการส่งตรวจเพิ่มเติมที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยยืนยันผลตรงกัน
ทั้งนี้ มีการประกาศยืนยันจากคณะกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้ประกาศเมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่าเป็นผู้ป่วยฝีดาษลิงคนแรกในไทย
อ่านข่าว : สธ.พบชายชาวไนจีเรีย ผู้ป่วยยืนยัน “ฝีดาษลิง” คนแรกในไทย
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม ว่า เจ้าหน้าที่พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 2 คน ซึ่งเป็นเพื่อนกับผู้ป่วยยืนยัน ยังไม่มีอาการป่วย และผลตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบการติดเชื้อฝีดาษลิง ขณะนี้อยู่ระหว่างกักตัวสังเกตอาการ 21 วัน
เจ้าหน้าที่ยังได้ค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมจากสถานบันเทิง 2 แห่ง ที่ผู้ป่วยยืนยันเคยไปใช้บริการ รวม 142 คน โดยพบผู้ที่มีอาการใกล้เคียงคือ มีไข้ เจ็บ คอ จำนวน 6 คน ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ 4 คน ไม่พบการติดเชื้อฝีดาษลิง และให้กักตัว 21 วัน นอกจากนี้ทีมสอบสวนโรคได้เข้าไปสอบสวนโรคและกำจัดเชื้อที่ห้องพักของผู้ป่วยด้วย
เบื้องต้น มีการยืนยันว่าพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงเป็นคนแรกของไทย และได้รายงานองค์การอนามัยโลกให้รับทราบทันที
ส่วนสถานการณ์โรคฝีดาษลิงทั่วโลก ว่า ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยยืนยัน 12,608 คนใน 66 ประเทศ แม้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่อัตราการเพิ่มขึ้นไม่ได้รวดเร็วมากนัก โดยพบมากในทวีปยุโรปและอเมริกา
มาตรการเฝ้าระวัง-ป้องกัน "ฝีดาษลิง" ในไทย
สำหรับมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรค "ฝีดาษลิง" ในไทย จะเฝ้าระวัง คัดกรองผู้ป่วยสงสัยในสถานพยาบาลทุกแห่ง คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ (สนามบินนานาชาติ) และเก็บตัวอย่างส่งตรวจเพื่อยืนยันการติดเชื้อ 2 แห่ง
ขณะที่การสอบสวนและควบคุมโรค เน้นผู้ป่วยทุกคนต้องได้รับการแยกกัก รวมทั้งขณะรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ หากพบผู้ป่วยยืนยันจำเป็นต้องได้รับการรักษา และแยกกักในโรงพยาบาลหรือห้องแยกโรค จนพ้นระยะแพร่เชื้อ
กรณีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ผู้ที่มีประวัติสัมผัสโดยตรงกับตุ่มผื่นของผู้ป่วย รวมทั้งเสื้อผ้า สิ่งของของผู้ป่วย ให้เฝ้าสังเกตอาการตนเองอย่างน้อย 21 วัน หากเริ่มมีไข้ ตุ่มผื่นขึ้น ให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย รวมทั้งเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
อ่านข่าวอื่นๆ
ลามเอเชีย "เกาหลีใต้-สิงคโปร์" พบผู้ป่วยยืนยันฝีดาษลิง
สิงคโปร์พบ "ฝีดาษลิง" คนที่ 3 อนามัยโลกเรียกประชุมฉุกเฉินหวั่นระบาดหนัก