วันนี้ (22 ก.ค.2565) ตามที่สภาผู้แทนราษฎร เปิดอภิปรายลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี 11 คน ระหว่างวันที่ 19-22 ก.ค.2565 โดยจะมีการลงมติในวันที่ 23 ก.ค.2565 นั้น
เพื่อเป็นการส่งเสริมกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุล และการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามวิถีทางประชาธิปไตย “เครือข่ายเสียงประชาชน” ซึ่งเป็นการริเริ่มของกลุ่มนักวิชาการจาก 4 มหาวิทยาลัยได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยรังสิต และเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนที่ร่วมกันจัดงาน 30 ปี พฤษภาประชาธรรม
ร่วมกับสื่อโทรทัศน์ดิจิตอล 4 ช่อง ได้แก่ เนชั่น ไทยรัฐทีวี ข่าวเวิร์คพอยท์ และพีพีทีวีร่วมกันทำโครงการ “เสียงประชาชนลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจรัฐบาล” เปิดให้ประชาชนลงมติไว้วางใจ หรือไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ที่ถูกอภิปรายทางออนไลน์คู่ขนานกับการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร
การลงมติออนไลน์จะดำเนินการโดยสื่อโทรทัศน์ดิจิตอล ที่ร่วมโครงการจะนำคิวอาร์โค้ดขึ้นหน้าจอ ให้ประชาชนได้ร่วมลงมติไว้วางใจ หรือไม่ไว้ใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ทั้ง 11 คน แยกเป็นรายบุคคลเช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร
โดยมีกติกาในการลงมติคือ 1.โทรศัพท์มือถือหนึ่งเครื่อง หรือคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องจะลงมติได้เพียงหนึ่งครั้ง
2.การลงมติจะเริ่มต้นในวันสุดท้ายของการอภิปรายคือ วันที่ 22 ก.ค. เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป โดยจะปิดการลงมติในวันที่ 23 ก.ค. เวลาเดียวกับการปิดลงมติของสภาผู้แทนราษฎรคือประมาณ 11.00 น. จากนั้นจะมีการสรุปผลและรายงานผลไปพร้อมกับผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร
โครงการ “เสียงประชาชนลงมติ-ไว้วางใจไม่ไว้วางใจรัฐบาล” ที่ดำเนินการคู่ขนานกับสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ ผู้ดำเนินการและสื่อโทรทัศน์ดิจิตอลที่ร่วมโครงการ มิได้มีความมุ่งหมายที่จะไว้วางใจ หรือไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ที่ถูกอภิปราย
หากประสงค์ที่จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ได้แสดงออกซึ่ง “เสียงประชาชน” ที่ถึงแม้ว่า จะมิได้มีผลทางกฎหมาย และไม่ว่าผลการลงมติในสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นเช่นไร แต่ผลที่ออกมาคือ “เสียงประชาชน” ที่ทุกฝ่ายจะได้รับฟัง
นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่มีการดำเนินการให้ประชาชนได้ลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจคู่ขนานกับสภาผู้แทนราษฎร โดยใช้ช่องทางออนไลน์ ที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้โดยสะดวก จัดการได้ง่าย และทราบผลได้รวดเร็ว ซึ่งควรจะได้มีการใช้ในการส่งเสริม “เสียงประชาชน” ให้ดังยิ่งขึ้นในวาระอื่น ๆ และเรื่องสาธารณะอื่น ๆ และนำไปสู่การมีประชาธิปไตยโดยตรงมากยิ่งขึ้นต่อไป