วันนี้ (23 ก.ค.2565) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคฝีดาษลิง หลังพบผู้ป่วยยืนยันรายแรกในไทย เป็นชายชาวไนจีเรีย อายุ 27 ปี
นพ.โอภาส กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (23 ก.ค.) คณะผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก ยังไม่ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เพราะโรคไม่รุนแรง และไม่ติดต่อง่าย โดยแพร่ระบาดมา 2 เดือน พบผู้ป่วย 12,608 คน และหายได้เอง
นพ.โอภาส กล่าวว่า การติดตามผู้ติดเชื้อชาวไนจีเรียคนดังกล่าว พบว่าเดินทางมาจากอาบูจา ให้ข้อมูลว่ามาเรียนภาษาที่ จ.เชียงใหม่ และเมื่อผลแล็บยืนยันติดเชื้อฝีดาษลิง เจ้าหน้าที่ติดต่อไปก็ไม่ค่อยให้ความร่วมมือและมีพฤติกรรมหลบหนี
ข้อมูลล่าสุดพบสัญญาณโทรศัพท์มือถือบริเวณชายแดน จ.สระแก้ว เชื่อว่าไม่ใช่นักท่องเที่ยวธรรมดา และน่าจะมีคนช่วยเหลือให้หลบหนี โดยได้ประสานความร่วมมือไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่คาดว่าผู้ติดเชื้อคนดังกล่าวหลบหนีไป เพื่อเฝ้าระวังแล้ว
ยังไม่พบติดเชื้อเพิ่ม
นพ.โอภาส กล่าวว่า การค้นหาเชิงรุกสถานบันเทิง 2 แห่ง จำนวน 142 คน ในจำนวนนี้พบผู้มีอาการป่วยไข้ เจ็บคอ ปวดตามตัว 6 คน แต่ไม่มีประวัติใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยัน และผลตรวจไม่พบเชื้อ 5 คน อีก 1 คน ได้เดินทางไปต่างประเทศแล้ว ส่วนผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดและมีความเสี่ยง ขณะนี้อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ เบื้องต้นไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม
ค้นหาเชิงรุก-สุ่มตรวจหาเชื้ออีก 183 คน
นอกจากนี้ จะใช้มาตรการค้นหาเชิงรุกจากผู้ป่วยโรคผื่นผิวหนังอื่น รวมทั้งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่รับบริการในโรงพยาบาล 3 แห่ง และคลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 3 แห่ง เพื่อสุ่มตรวจหาเชื้อโรคฝีดาษลิง โดยใช้เกณฑ์การสุ่ม ดังนี้
ผู้ป่วยอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่มารับบริการที่โรงพยาบาล คลินิกตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2565 ถึงปัจจุบัน และมีอาการผื่นตามร่างกายโดยไม่ใช้โรคประจำตัว หรือได้รับการวินิจฉัยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, ผู้ป่วยที่มีอาการผื่นบริเวณอวัยวะเพศ โดยอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลอาการป่วยเพิ่มเติม ประวัติเสี่ยง และสุ่มเก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อ รวม 183 คน
ทั้งนี้ มีคำแนะนำสำหรับประชาชนว่าโรคดังกล่าวไม่ได้ติดต่อกันได้ง่าย แต่เป็นการติดเชื้อจากการสัมผัสโดยตรงกับตุ่มหรือผื่น ใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย โดยขอให้ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยแจลแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่าง กรณีพบผู้ป่วยสงสัยฝีดาษลิง โดยเฉพาะชาวต่างชาติ แนะนำให้ผู้ป่วยรีบพบแพทย์ ไม่ควรหลบหนี
โรคนี้ไม่ติดง่าย ประชาชนทั่วไป พฤติกรรมปกติความเสี่ยงแทบจะเป็นศูนย์ บางคนถามว่าฉี่กระเด็นใส่จะติดเชื้อหรือไม่ ก็คงไม่ติด เพราะเชื้ออยู่ตามตุ่มตามหนอง และต้องสัมผัสใกล้ชิด เดินเฉียดกันไม่ติด
อธิบดีกรมควบคุมโรค ไม่ได้ระบุว่าต้องมีพื้นที่จังหวัดใดเฝ้าระวังเป็นพิเศษ แต่เฝ้าระวังสถานพยาบาลและตรวจสอบผู้ที่มีอาการ ส่วนการป้องกันการติดเชื้อระหว่างประเทศ มีมาตรการอยู่แล้วและต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงาน ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ด่านตรวจโรค และกระทรวงคมนาคม
อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์เวสต์แอฟริกาที่กำลังระบาด มีความรุนแรงของโรคค่อนข้างน้อย แต่กลุ่มเปราะบางอาจมีความรุนแรง ต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้พบผู้ป่วย ขณะนี้ส่วนใหญ่ผู้ป่วยทั่วโลกเป็นกลุ่มชายวัยกลางคน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
พบเบาะแส ชายไนจีเรียป่วย "ฝีดาษลิง" หนีข้ามไปกัมพูชา
หายจากโรงแรมภูเก็ต! ชายไนจีเรียติดเชื้อ "ฝีดาษลิง"
สธ.เผยเคสชาวไนจีเรียป่วย "ฝีดาษลิง" พบเพื่อนเสี่ยงสูง 2 คน