สถานการณ์น้ำท่วมในภาคอีสาน-เหนือ ยังน่าเป็นห่วง
ชาวบ้านตำบลเกรียงไกร อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ นำเรือพายเป็นพาหนะในการขนย้ายทรัพย์สิน ประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า และ เตรียมอพยพไปอาศัยอยู่บนถนนแทน หลังจากน้ำแม่น้ำน่านที่เอ่อล้นตลิ่งและไหลเข้าท่วมพื้นที่ ได้เพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนใกล้จะท่วมถึงบริเวณชั้นไม้ที่นำมาต่อเติมสำหรับอยู่อาศัยบริเวณใต้หลังคา
ส่วนที่จังหวัดสุโขทัย ชาวบ้านบางคลอง ตำบลปากแคว อำเภอเมืองสุโขทัยยังไม่กล้ากลับเข้าไปอาศัยอยู่ภายในบ้านพัก แม้ว่าระดับน้ำที่ท่วมขังจะเริ่มลดลงบ้างแล้ว เนื่องจากไม่มั่นใจว่าฐานของบ้านที่ถูกน้ำไหลกัดเซาะมานานกว่า 2 เดือนจะทรุดพังเสียหายลงมาหรือไม่ นอกจากนี้ชาวบ้านยังเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งซ่อมแซมคันดินที่กั้นแม่น้ำยมที่พังลงมาเพราะหากน้ำเหนือไหลมาสมทบอีกจะทำให้เกิดน้ำท่วมซ้ำ
ขณะที่นายบุญเสริม เชยวัดเกาะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากแคว ระบุว่า คันดินที่พังลงมีความยาวกว่า 15 เมตร และความลึกเท่ากับท้องน้ำจึงต้องรอให้ระดับน้ำในแม่น้ำยมลดลงมามากกว่านี้ ถึงจะสามารถเข้าซ่อมแซมได้
ส่วนผู้ประกอบการร้านอาหารบริเวณหาดคูเดื่อ ตำบลจาระแม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี กว่า 10 รายจากทั้งหมด 50 ราย ต้องปิดให้บริการอย่างไม่มีกำหนด หลังระดับน้ำในแม่น้ำมูลเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมบริเวณลานจอดรถ และจุดใช้ประกอบอาหาร ทำให้ไม่สามารถให้บริการกับนักท่องเที่ยวได้
ขณะที่น้ำในแม่น้ำชีที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยวันละกว่า 10 เซนติเมตร ทำให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดมหาสารคาม ประกาศเตือนให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำชี โดยเฉพาะในพื้นที่ อำเภอเชียงยืน อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอกันทรวิชัย และอำเภอเมือง เร่งขนย้ายทรัพย์สินไปอยู่ในที่สูงเพื่อป้องกันความเสียหาย เนื่องจากน้ำได้เอ่อล้นเข้าท่วม 5 หมู่บ้านในเขตตำบลลาดพัฒนา เบื้องต้นมีบ้านได้รับผลกระทบแล้ว กว่า 70 หลัง ขณะที่ชลประทานจังหวัดต้องเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน