ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ประสบการณ์จริงป่วย "ฝีดาษลิง" อาการโหดกว่าที่คิด

สังคม
26 ก.ค. 65
14:34
2,532
Logo Thai PBS
ประสบการณ์จริงป่วย "ฝีดาษลิง" อาการโหดกว่าที่คิด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ดร.อนันต์" ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา เผยผู้ป่วยฝีดาษลิง ในสหรัฐอเมริกา ถ่ายทอดประสบการณ์ในทวิตเตอร์ ยอมรับความเจ็บปวด จากตุ่มหนอง ระดับสูงมากจนน้ำตาเล็ด ส่วน "หมอธีระ" เปิดงานวิจัยที่เพิ่งตีพิมพ์ล่าสุด อาการแบบไหนบ่งชี้ฝีดาษลิง

วันนี้ (26 ก.ค.2565) ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทค โนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุถึงอาการของผู้ป่วยฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง 

ผู้เชี่ยวชาญด้านไนรัสวิทยา ไบโอเทค ระบุว่า ผู้ป่วยฝีดาษลิงในสหรัฐอเมริกา โพสต์รูปอาการป่วยของตัวเองในทวิตเตอร์ ระบุว่า ตุ่มแผลที่ขึ้นบนใบหน้านี้ คือลักษณะของแผลที่ติดเชื้อมา 2 อาทิตย์แล้ว

ผู้ป่วย ระบุว่าตอนแรกคิดว่าติดฝีดาษลิง คงมีอาการอะไรไม่มาก แต่พอติดแล้วอาการเข้าขั้นโหดไม่ธรรมดา เชื่อว่าการที่เค้าติดไวรัสฝีดาษลิง ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอลงไปด้วย  ขณะที่กักตัวอยู่ผู้ป่วย มีอาการคออักเสบจากเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส (Strep throat) ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยมีอาการแบบนี้มาก่อนเลย

ที่น่าสนใจคือ จู่ๆ ที่ร่างกายส่วนอื่น เช่น ที่หน้าขา ก็มีตุ่มใสขึ้นมาอีก ทั้งๆ ที่ตุ่มที่ใบหน้าขึ้นมา 2 สัปดาห์ และน่าจะหยุดได้แล้ว แต่ตุ่มที่ขึ้นใหม่ ไม่น่าจะใหญ่เท่าตอนแรก ๆ ที่ขึ้นที่หน้า เพราะแอนติบอดี ที่ร่างกายสร้างขึ้นมาน่า จะช่วยลดปริมาณไวรัส และกระบวนการการอักเสบลงได้

ภาษาที่ใช้บรรยายเห็นภาพชัดว่า ความเจ็บปวด มีอยู่ในระดับสูงมากจนน้ำตาเล็ด (The pain I've been experiencing keeps my eyes full of tears) เป็นประสบการณ์ที่ไม่ควรเจอะเจอในชีวิต

ภาพ: เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat

ภาพ: เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat

ภาพ: เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat

เช็กอาการฝีดาษลิงที่ได้รับการตีพิมพ์ล่าสุด

สอดคล้องกับ ข้อมูลที่ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า สรุปอาการของฝีดาษลิงจาก 16 ประเทศทั่วโลก ซึ่ง Thornhill JP และคณะ ได้เผยแพร่ผลการศึกษาอาการฝีดาษลิง ในผู้ป่วย 528 คนจาก 16 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ เม.ย.-มิ.ย.ที่ผ่านมา ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ระดับโลก New England Journal of Medicine ล่าสุด เมื่อ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา

สาระสำคัญ คือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกย์ และไบเซ็กชวล มีเพศสัมพันธ์ กับทั้งเพศชาย และเพศหญิง มีถึง 41% ที่ติดเชื้อเอชไอวีอยู่ด้วย อายุเฉลี่ย (ค่ามัธยฐาน) 38 ปี (วัยทำงาน) 95% มีประวัติที่คาดว่าติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ 95%

จะเกิดผื่นตามผิวหนังหลังจากติดเชื้อฝีดาษลิง โดยผื่นจะพบบริเวณทวารหนัก หรืออวัยวะเพศราว 3 ใน 4 หรือ 73% อาการผิดปกติอื่นๆ ที่พบบ่อยก่อนเกิดผื่น คือไข้  62%  ต่อมน้ำเหลืองโต  56% อ่อน เพลีย 41%  ปวดกล้ามเนื้อ  31%  ปวดหัว  27%  พบว่า 1 ใน 3 หรือ 29% ที่พบว่าติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์อื่นร่วมด้วย เช่น หนองใน ซิฟิลิส เริม

ส่วนระยะเวลาฟักตัว ตั้งแต่เริ่มติดเชื้อจนถึงเริ่มเกิดอาการป่วย เฉลี่ย 7 วัน โดยเป็นได้ตั้งแต่ 3-20 วัน
ที่สำคัญคือจากการตรวจน้ำอสุจิ 32 คน สามารถตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัสฝีดาษลิงได้ถึง 29 คน
สามารถตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัสในลำคอ และจมูก ได้ถึง 1 ใน 4 หรือ 26% และยังตรวจพบในเลือดและปัสสาวะได้ในบางคน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สธ.ยังคงสถานะ "ฝีดาษลิง" เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง

ถกแขนเสื้อด่วน! แบบไหนปลูกฝี? ป้องกันฝีดาษลิง

ตรวจเชื้อฝีดาษลิง "Swab คอ" ไม่ต้องรอตุ่มขึ้น-ไม่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์

เล็งใช้เชื้อ "ฝีดาษลิง" ชาวไนจีเรีย ทดสอบภูมิคนปลูกฝีในไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง