วันนี้ (2 ส.ค.2565) กระทรวงสาธารณสุขของรัฐเกรละ ทางตอนใต้ของอินเดีย ยืนยันการพบผู้เสียชีวิตจากโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง เป็นคนแรกของประเทศ ชายคนดังกล่าวอายุ 22 ปี และมีประวัติเดินทางมาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยเสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา
การตรวจตัวอย่างหลังเสียชีวิต ที่สถาบันไวรัสวิทยาแห่งชาติอินเดีย พบว่า มีเชื้อฝีดาษลิง และยืนยันผลเมื่อวานนี้ (1 ส.ค.2565)
เจ้าหน้าที่ เปิดเผยว่า ชายคนดังกล่าวเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชน เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา ด้วยอาการไข้ เพลีย และต่อมน้ำเหลืองโต แต่ว่าไม่มีตุ่มตามตัว แพทย์จึงไม่สงสัยว่าเป็นฝีดาษลิง และไม่ได้ทดสอบหาเชื้อ จากนั้นอาการทรุดลงอย่างรวดเร็วจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ ข้อมูลพบว่า ชายคนดังกล่าวตรวจพบฝีดาษลิง ตั้งแต่อยู่ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา ก่อนออกเดินทางและมายังรัฐเกรละ เมื่อวันที่ 21 ก.ค. แต่ครอบครัวเพิ่งจะแจ้งเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อวันที่ 30 ก.ค.
ขณะนี้ทางการอินเดีย กักตัวผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้เสียชีวิต 21 คน ทั้งเพื่อน ครอบครัว และคนที่เล่นฟุตบอลด้วยกัน 9 คน แต่ยังไม่มีใครแสดงอาการใด ๆ ส่วนผู้โดยสารบนเที่ยวบินที่เดินทางกลับจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เจ้าหน้าที่แจ้งให้ทราบแล้ว แต่ไม่ถือว่าน่ากังวล เพราะไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดกัน โดยการเฝ้าระวังไม่เหมือน COVID-19
อินเดียพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงแล้ว 4 คน ในกรุงนิวเดลี 1 คน และรัฐเกรละ 3 คน คนแรกพบในเกรละ เมื่อ 14 ก.ค. รักษาและหายแล้ว แต่สื่อท้องถิ่นรายงานว่าพบ 5 คน
สำหรับชายดังกล่าว ถือเป็นผู้เสียชีวิตจากฝีดาษลิงคนที่ 4 ของโลก นอกทวีปแอฟริกา หลังจากสัปดาห์ที่แล้ว บราซิลพบผู้เสียชีวิตคนแรก และสเปนพบผู้เสียชีวิต 2 คน
คาดผู้ติดเชื้อในอินเดียส่วนหนึ่ง ไม่โยงการระบาดในสเปน
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยจากสถาบันด้านชีววิทยาบูรณาการและการศึกษาจีโนมในเดลี ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงในรัฐเกรละจำนวนหนึ่ง อาจจะไม่ได้เชื่อมโยงกับการระบาดที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากในสเปน ที่หลายคนเชื่อว่าเป็นต้นตอการระบาดในหลายประเทศทั่วโลก
การตรวจวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมของตัวอย่างไวรัสที่เก็บได้จากผู้ติดเชื้อ 2 คนแรกในอินเดีย ที่เกรละ พบว่า ไวรัสฝีดาษลิงเป็นสายพันธุ์ย่อย A.2 ส่วนสายพันธุ์ที่ระบาดในยุโรป คือ B.1 ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งจึงตั้งข้อสังเกตว่า ฝีดาษลิงอาจจะอยู่ในอินเดียมาสักพักแล้ว เพียงแต่ไม่มีการตรวจพบ ซึ่งการระบาดระหว่างคนสู่คนอาจจะเกิดขึ้นมาแล้วนานหลายปีก็ได้ และน่าจะก่อนพบการระบาดในยุโรป
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ระบุว่า ทั่วโลกพบฝีดาษลิงระบาดแล้วอย่างน้อย 78 ประเทศ ติดเชื้อรวมไม่ต่ำกว่า 18,000 คน เฉพาะในสหรัฐฯ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) รายงานตัวเลขเมื่อวันที่ 31 ก.ค. ว่ายืนยันผู้ติดเชื้อแล้ว 5,189 คน