ปัจจุบัน เทคโนโลยีพร้อมที่จะพาเราเข้าสู่ยุคของ Metaverse เต็มตัวแล้ว แต่สิ่งที่ยังไม่พร้อมคือคนสร้างโลกเสมือน
ดร.กฤษฎา พนมเชิง อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า เราต้องการกำลังคนมหาศาลที่จะมาสร้างโลก Metaverse หรือ โลกเสมือนจริง และเปลี่ยนโลกไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งการสร้างโลกด้วย Metaverse นั้น “ใครๆ ก็ทำได้”
นักวิจัยยังคงพยายามพัฒนาให้ประสบการณ์ในโลก Metaverse มีความใกล้เคียงกับความจริงมากขึ้น ซึ่งตอนนี้เทคโนโลยีหลายอย่าง เช่น แว่น Oculus ถุงมือ หรืออุปกรณ์ควบคุม ก็ทำให้เรารู้สึกได้เทียบเท่าของจริงมากขึ้นแล้ว เชื่อว่าในอนาคต ประสบการณ์ใน Metaverse อาจจะดีกว่าของจริงก็เป็นได้ และยังมีอีกหลายเรื่องราวในโลกที่รอให้เทคโนโลยี Metaverse ช่วยเสริมประสบการณ์ชีวิตและการเรียนรู้
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเปิดหลักสูตร “เทคโนโลยีเมตาเวิร์สและการประยุกต์ใช้” โดยเน้นให้ผู้เรียนสามารถสร้าง Metaverse ได้ โดยแบ่งสาระและปฏิบัติการเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1. สร้างโมเดล เมื่อมีเนื้อหาที่ต้องการจะนำเสนอใน Metaverse แล้ว จุดแรกที่ต้องทำคือการสร้างโมเดล ซึ่งในหลักสูตรนี้จะสอนการสร้างโมเดล 3 มิติ ด้วยโปรแกรม Blender ซึ่งเป็นโปรแกรมฟรี ที่สามารถสร้างโมเดลและภาพเคลื่อนไหวได้มีคุณภาพค่อนข้างดี
2. รวมโมเดลเอาไว้ในโลกเดียวกัน คือการรวบรวมโมเดลเข้ามาอยู่ในแอปพลิเคชัน โดยใช้โปรแกรม Unity โมเดลที่เราได้สร้างเอาไว้ทั้งหมดก็จะกลายเป็นโลกใบหนึ่งได้แล้ว
3. เชื่อมต่อโลกกับอุปกรณ์ เมื่อเราได้โลกใบหนึ่งแล้ว เราต้องทำการเชื่อมโลกของเราเข้ากับอุปกรณ์ โดยอุปกรณ์ที่ใช้เรียนในหลักสูตรนี้จะใช้ แว่น Oculus หรือ แว่น VR (Virtual Reality) ซึ่งจะเป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยให้เราสามารถเข้าถึงโลกที่เราสร้างขึ้นมาเองกับมือได้นั่นเอง
ตลอดระยะเวลา 30 ชั่วโมงในการเรียนหลักสูตรนี้ ผู้เรียนจะได้ความรู้พื้นฐานที่นำไปสร้าง Metaverse ของตัวเองได้จริง
ดร.กฤษฎา ย้ำว่า ไม่ว่าจะมาจากสาขาอาชีพใด มีพื้นฐานการเขียนโปรแกรมมาหรือไม่ หลักสูตรนี้จะช่วยให้ผู้เรียนสร้าง Metaverse ที่เป็นโลกของตนเองอย่างน้อย 1 ใบ พร้อมรับใบประกาศเมื่อเรียนจบหลักสูตร เพื่อนำไปประยุกต์ใช้จริงตามความสนใจของตนแน่นอน
ขณะนี้มีนักเรียนที่เรียนจบหลักสูตรนี้เรียบร้อยแล้ว 1 รุ่น นักเรียนทั้ง 25 คน สามารถสร้าง Metaverse ออกมาได้อย่างดี และส่วนมากบอกว่าสามารถทำได้ไม่ยาก
ผู้สนใจเรียนหลักสูตร “เทคโนโลยีเมตาเวิร์สและการประยุกต์ใช้” สามารถติดตามรายละเอียดการเปิดรับสมัคร พร้อมค้นหารายวิชาอื่น ๆ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ที่พร้อมให้ทุกคนมา Reskill – Upskill ได้ที่เว็บไซต์ของโครงการ Chula Engineering สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)