สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (TJA), สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) และสมาคมนักข่าวแห่งประเทศลาว (LJA) ร่วมจัดอบรม "โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาทักษะการเพิ่มรายได้ผ่าน Online Platform สำหรับสื่อมวลชนลาว" ณ เมืองวังเวียง แขวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว เมื่อวันที่ 24-26 ก.ค. 2565 โดยมี "สะหวันคอน ราซมนตรี" ประธานสมาคมนักข่าวแห่งประเทศลาว ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดและปิดการอบรม
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นงานที่ 2 องค์กรวิชาชีพสื่อของไทย คือ TJA และ SONP ที่ร่วมมือกับสมาคมนักข่าวแห่งประเทศลาว ซึ่งมีความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยมากว่า 30 ปี จัดขึ้นตามบันทึกความเข้าใจที่ทำกันไว้ในเรื่องความร่วมมือทางวิชาการ
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ได้มีความร่วมมือในลักษณะนี้หลายครั้ง อาทิ การจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การใช้ Social Media ในงานข่าวสำหรับสื่อมวลชนลาว" ที่นครเวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 12-13 พ.ย.2558
และการอบรมเรื่อง "เนื้อหาและการตลาดสำหรับเว็บไซต์ข่าว" ที่นครเวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 20-21 ก.ค.2562 ดังนั้น การอบรมครั้งนี้ จึงเป็นการต่อยอดจากการอบรมในครั้งก่อน ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการหารายได้ให้กับสื่อมวลชนลาว
การอบรมครั้งนี้ มีทีมงานการตลาด เนื้อหาและเทคนิคจากสื่อมวลชนลาว 10 องค์กร เข้าร่วมการสัมมนาที่ลงลึกถึงการสร้างแผนการหารายได้ให้สอดคล้องกับการผลิตเนื้อหา เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการสร้างรายได้ให้มากขึ้นจนสามารถพึ่งพาเงินอุดหนุนจากรัฐให้น้อยที่สุด
สำหรับการอบรมในครั้งนี้ มีด้วยกัน 5 Session โดย กนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส เป็นหนึ่งในผู้บรรยายให้ความรู้ ใน Session 4 หัวข้อ : การผลิตเนื้อหาในยุคดิจิทัล และกรณีศึกษา
ด้าน น.ส.ชุตินธรา วัฒนกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายสื่อใหม่สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี ในฐานะที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาทักษะการเพิ่มรายได้ผ่าน Online Platform ให้กับสื่อมวลชนลาวครั้งนี้ เรียกว่าเป็น "วังเวียงโมเดล" เป็นระยะเวลา 3 วัน ที่สร้างมิตรภาพดี ๆ ระหว่างผู้สอนกับผู้ฟัง มีการสื่อสารจากภาษาที่ใกล้ชิดกัน
บทเรียนที่นำไปบรรยายและ Workshop ให้กับสื่อมวลชนลาว อาจจะเป็นการจุดประกายเริ่มต้นให้เกิดไอเดียในการนำเสนอเนื้อหารูปแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ให้กับองค์กรสื่อลาว ถึงแม้จะมีรัฐบาลสนับสนุนแต่ก็ต้องหารายได้ด้วย
พวกเราเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล ไม่มีใครสามารถอยู่ตัวคนเดียวได้ แม้แต่คู่แข่งก็ยังมีบางมุมที่ร่วมมือกัน แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ จะช่วยให้ประสบความสำเร็จได้ในทิศทางที่วางไว้