วันนี้ (3 ส.ค.2565) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วย
(มิสซี) แล้วมากกว่า 100 ราย สำหรับการป้องกันโรคนี้มีการรายงานจากต่างประเทศพบว่า การให้วัคซีนป้องกัน COVID-19 ลดความเสี่ยงต่อการเกิดมิสซี และลดความรุนแรงของโรคได้
ทั้งนี้ มิสซี เป็นกลุ่มอาการที่พบได้ในผู้ป่วยเด็ก ซึ่งผู้ป่วยอาจจะมีอาการคล้ายโรคคาวาซากิ แต่พบภาวะช็อกที่เกิดจากการอักเสบที่หัวใจ หรือหลอดเลือดหัวใจโป่งพอง ซึ่งเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้ หากมีอาการรุนแรงจนจำเป็นต้องรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต
ขณะที่ นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี มีการพบผู้ป่วยมิสซี จำนวน 51 ราย อายุตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 11 ปี อายุเฉลี่ย 4.8 ปี ผู้ป่วยร้อยละ 27 มีภาวะช็อก จึงจำเป็นต้องให้การรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต
ผู้ป่วยบางคนมีเส้นเลือดหัวใจโป่งพองคล้ายกับโรคคาวาซากิ ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดมีการตอบสนองต่อการรักษาดี การทำงานของหัวใจกลับมาทำงานเป็นปกติร้อยละ 90 ระยะเวลาที่รักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตขึ้นกับความรุนแรงและการตอบสนองต่อการรักษา ในสถาบันฯ พบการเสียชีวิตจากภาวะนี้จากเส้นเลือดหัวใจโป่งพอง 1 ราย
การวินิจฉัยและการรักษาที่ทันท่วงทีจะช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคนี้และลดภาวะแทรกซ้อนได้ ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ยังไม่พบภาวะแทรกซ้อนจากวัคซีนป้องกัน COVID-19 ในผู้ป่วยที่เคยเป็นมิสซี และพบว่าผู้ป่วยมิสซีที่จำเป็นต้องเข้าไอซียูในปี 2565 มีจำนวนลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ก่อนที่จะมีการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้เด็กไทย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง สธ.ชี้แจงเคส "เด็ก 6 ขวบ" เสียชีวิตจาก MIS-C หลังติดโควิด