วันนี้ (3 ส.ค.2565) ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุถึงสถานการณ์โควิด-19 และอาการ Long COVID ว่า จากตัวเลขเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 719,114 คน ตายเพิ่ม 1,697 คน รวมติด 583,673,113 คน เสียชีวิตรวม 6,423,641 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อิตาลี ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา
เมื่อวานนี้ (2 ส.ค.) จำนวนติดเชื้อใหม่ มีประเทศจากยุโรป และเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลก ตอนนี้มาจากทวีปเอเชีย และยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 79.23 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 52.38
สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่าจำนวนเสียชีวิตเมื่อวานนี้ สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย แม้กระทรวงสาธารณสุขไทย จะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
อ่านข่าวเพิ่ม 9 พ.ค.นี้ กทม.เปิดคลินิกรักษาผู้ป่วย "ลองโควิด" ใน รพ. 9 แห่ง
การเป็นกลับซ้ำ (rebound) ในคนติดเชื้อที่ไม่ได้รับยาต้านไวรัส
อาจารย์ธีระ ระบุว่า ข้อมูลของ Deo R และคณะ จาก Harvard Medical School ประเทศสหรัฐฯ ทำการศึกษาเรื่องการเป็นกลับซ้ำ (rebound) ในกลุ่มคนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่ไม่ได้รับยาต้านไวรัส สาระสำคัญคือ พบว่าผู้ที่ติดเชื้อจะมีอัตราการมีไวรัสกลับสูงขึ้น (viral rebound) หลังจาก 5 วันราว 12% หรือประมาณ 1 ใน 8 คน
โดยปริมาณไวรัสที่กลับสูงขึ้นนั้น จะอยู่ในระดับสูงเกิน 100,000 ตัวต่อซีซี ราว 5% ในขณะที่มีอัตราการเกิดอาการซ้ำขึ้นมา หลังจากอาการช่วงแรกดีขึ้น ได้ราว 27% หรือสูงถึง 1 ใน 4
พบคนที่มีอาการกลับซ้ำนั้น เกิดขึ้นหลังจากอาการช่วงแรกหายไป มีได้ราว 10% อย่างไรก็ตาม การเกิดไวรัสกลับมาสูงขึ้นในระดับสูง ร่วมกับมีอาการกลับซ้ำขึ้นมาพร้อมกันนั้น เกิดได้น้อยราว 2%
ผลการวิจัยนี้ ชี้ให้เราเห็นว่า คนที่ติดเชื้อแม้จะไม่ได้รับยาต้านไวรัส ก็มีโอกาสเกิด rebound ได้เช่นเดียวกันกับที่พบจากคนที่ได้ยาต้านไวรัส
ดังนั้น หากติดเชื้อไม่ว่าจะได้หรือไม่ได้ยาต้านไวรัส การแยกกักตัวในระยะเวลาที่ถูกต้อง และนานเพียงพอ 14 วัน สำหรับโอมิครอนหรืออย่างน้อย 10 วัน โดยไม่มีอาการ และตรวจ ATK ได้ผลลบจึงมีความสำคัญที่จะทำให้แน่ใจเรื่องความปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อต่อเหนืออื่นใดการใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ เวลาดำเนินชีวิตประจำวันนอกบ้าน เป็นหัวใจสำคัญ ที่จะป้องกันตัวในสถาน การณ์ระบาด ที่ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพราะในชีวิตจริง มีโอกาสสูงที่จะพบปะกับคนที่ติดเชื้อทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวได้
เปิดงานวิจัย Long COVID ล่าสุด
อาจารย์ธีระ ยังระบุอีกว่า จากผลการวิจัยทั่วโลกคนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะเกิดปัญหา Long COVID ตามมาได้ โดยมีโอกาสได้ตั้งแต่ 5-30% โดย Long COVID มาในรูปแบบที่เป็นอาการผิดปกติคงค้างมาตั้งแต่ช่วงแรก และเรื้อรังต่อเนื่อง หรือจะมาในรูปแบบอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นใหม่ ภายหลังจากที่รักษาการติดเชื้อในช่วงแรกไปแล้วเกิน 4 สัปดาห์
อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้น เกิดได้แทบทุกระบบของร่างกาย โดยความรู้ปัจจุบันจำแนกกลุ่มอาการที่พบบ่อยได้แก่ ระบบหัวใจและทางเดินหายใจ ระบบประสาท อารมณ์ จิตเวช
กลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับหลายอวัยวะ และระบบทางเดินอาหาร อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงเกิดปัญหาในระบบอื่น และกลายเป็นโรคเรื้อรังด้วย เช่น เบาหวาน ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ Long COVID เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเคยติดเชื้อแบบไม่มีอาการ มีอาการน้อยหรือมีอาการรุนแรง และเกิดได้ทุกเพศทุกวัย
งานวิจัยต่างๆ พบว่าผู้หญิงเสี่ยงกว่าชาย ผู้ใหญ่เสี่ยงกว่าเด็ก และคนที่เคยติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรงเสี่ยงกว่าคนมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ
ดังนั้น หลังจากที่รักษาการติดเชื้อในระยะแรกเรียบร้อยแล้ว ผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อนจึงควรหมั่นสังเกต ตรวจตราสุขภาพของตัวเองเป็นระยะ หากมีอาการผิดปกติใดๆ เกิดขึ้น ก็ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจ วินิจฉัย และให้การดูแลรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3-6 เดือนแรกหลังจากติดเชื้อ การไปตรวจสุขภาพที่สถานพยาบาลก็เป็นแนวทางปฏิบัติที่สมควรทำ
ข้อมูลอ้างอิง
1. Deo R et al. Viral and Symptom Rebound in Untreated COVID-19 Infection. medRxiv. 2 August 2022
2. Sidik SM. Heart disease after COVID: what the data say. Nature. 2 August 2022.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เช็กเบื้องต้น 200 อาการ "ลองโควิด"
เพิ่ม 2 ฟังก์ชันหมอพร้อม ประเมินภาวะ "ลองโควิด-สุขภาพจิต"