วันนี้ (7 ส.ค.2565) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สถานการณ์โรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิงในไทยพบผู้ป่วย 4 คน เป็นชาวต่างชาติ 2 คน และสัญชาติไทย 2 ราย
จากการเฝ้าระวังติดตามอาการผู้ป่วย พบอาการป่วยไม่รุนแรง แม้ยังไม่มียารักษาเฉพาะ โรคนี้สามารถหายได้เองในระยะ 2-4 สัปดาห์ โดยให้ยารักษาตามอาการ
โรคฝีดาษลิงไม่ได้ติดต่อกันได้ง่ายๆ ความเสี่ยงที่จะติดโรค ส่วนใหญ่มาจากการสัมผัสรอยโรคผิวหนัง เช่น ผื่น ตุ่มหนอง สารคัดหลั่ง หรือสัมผัสใกล้ชิดมากๆ กับผู้ป่วย หรือบาดแผลของผู้ป่วย รวมทั้งการติดต่อผ่านทางละอองทางเดินหายใจจากการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น หน้าแนบหน้า
ชี้วัคซีนฝีดาษลิงให้ 2 กลุ่มเสี่ยงรับเชื้อ
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า สำหรับการป้องกันควบคุมโรคองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ใช้วัคซีนป้องกันโรคในกลุ่มที่จำเป็น เช่น บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า
สิ่งที่สำคัญอันดับแรก คือ การป้องกันโรคโดยไม่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย งดเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า หรือไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น และล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันติดเชื้อจะเป็นการดีที่สุด
โดยการพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ ๆ ต้องติดตามข้อมูลผลข้างเคียงและประสิทธิภาพของวัคซีนเมื่อใช้จริงในประชากร
ไทยได้สั่งจองวัคซีนป้องกันฝีดาษลิงแล้ว คาดว่าจะนำเข้ามาปลายเดือนหลัง ส.ค.นี้ ซึ่งคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ได้ประชุมหารือ กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะรับวัคซีนเบื้องต้น
แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มก่อนการสัมผัสเชื้อ ได้แก่ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ เช่น ดูแลผู้ป่วยใกล้ชิด หรือเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ และ 2.กลุ่ม Post-exposure คือฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงหลังสัมผัสโรคไม่เกิน 14 วัน ซึ่งหากฉีดเร็วจะมีโอกาสป้องกันการติดเชื้อเพิ่มขึ้น
อ่านข่าวเพิ่ม ไทยพบผู้ป่วย "ฝีดาษลิง" คนที่ 4 เป็นผู้หญิงใกล้ชิดต่างชาติ
"หมอยง"ไขคำตอบฝีดาษลิงตุ่มขึ้นอวัยวะเพศ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า ลักษณะแตกต่างของตำแหน่งที่ผื่นขึ้นหรือตุ่มน้ำ ระหว่างผู้ป่วยที่เกิดในแอฟริกา กับผู้ป่วยที่พบนอกแอฟริกา จะเห็นว่าประมาณ 40 % ของผู้ป่วยที่เกิดขึ้นนอกแอฟริกา มีตุ่มขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ หรือส่วนที่ทำกิจกรรมทางเพศ
ทั้งนี้ เพราะการเกิดในแอฟริกา ส่วนใหญ่เริ่มต้นจากสัตว์สู่คน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ฟันแทะจำพวกหนู การที่เราได้รับเชื้อจะรับเชื้อทางการสัมผัส หรือเข้าทางระบบทางเดินหายใจ เชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือดและต่อมน้ำเหลือง ที่ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโต มีไข้เมื่อยเนื้อ เมื่อยตัว แล้วหลังจากนั้นจึงมีตุ่มน้ำเกิดขึ้น
การเกิดจะเกิดส่วนปลายของร่างกายก่อน เช่น แขน ขา ศีรษะ แล้วค่อยมาที่ลำตัว ดังนั้นการเกิดจากการกระจายไปตามกระแสโลหิต ลักษณะตุ่ม จึงเกิดในระยะเดียวกันหรือใกล้เคียงกันหรือเรียกว่าสุกพร้อมกัน
ชี้โรคกระจายในผู้หญิงอนาคตอาจควบคุมยาก
แต่การเกิดในผู้ป่วยนอกแอฟริกาจะมี 2 ระยะ ระยะแรกคือ การสัมผัสโดยเฉพาะในกิจกรรมทางเพศ เชื้อจะเข้าตามรอยถลอกของร่างกาย จึงเปรียบเสมือนเป็นการปลูกฝีแบบสมัยก่อน
สมัยก่อนปลูกฝีโดยการหยดหนองฝีที่ต้นแขน แล้วใช้เข็มแหลม สะกิดหรือข่วน ให้เป็นรอยถลอกเล็กน้อย ตุ่มหนองฝี จะขึ้นตามตำแหน่งที่เราข่วน หรือรอยถลอก แล้วก็หายไป ร่างกายก็จะสร้างภูมิต้านทานขึ้น ยกเว้นในรายที่มีภูมิต้านทานต่ำ เชื้อจะเข้าสู่กระแสโลหิตแล้วเกิดการกระจายตัวของตุ่มได้ทั้งตัว
การเกิดตุ่มในผู้ป่วยนอกแอฟริกาที่กำลังระบาดอยู่นี้ หลายหมื่นคน จะอยู่ในกลุ่มเพศชายถึง 98 % และมีตุ่มเกิดขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศถึง 40 % และผู้ป่วยมักจะพบร่วมกับโรคที่เกี่ยวข้องกับเพศสัมพันธ์ร่วมด้วย
ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า การเกิดโรคมี 2 ระยะระยะแรกตุ่มที่ขึ้นจะขึ้นบริเวณอวัยวะเพศก่อน เกิดจากเชื้อสัมผัสกับรอยขูดถลอก หรือบริเวณที่สัมผัส รอยโรคจะเกิดขึ้นคล้ายกับการปลูกฝี
แต่เมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสโลหิต แล้วกระจายไปทั่วจึงค่อยเกิดตุ่ม ที่ศีรษะ แขนขา และลำตัว ตามมาทีหลัง ระยะต่าง ๆ ของตุ่มที่เกิด จึงไม่ได้อยู่ในระยะเดียวกันทั้งหมด
การติดต่อของโรคนี้ที่เกิดขึ้นนอกแอฟริกา จึงอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ เป็นเพศชายเป็นส่วนใหญ่ แต่ต่อไปในอนาคตกิจกรรมทางเพศ จะกระจายไปเข้าสู่เพศหญิงได้แล้วในที่สุดโรคนี้จึงเป็นโรคที่ยากต่อการควบคุม
อย่างไรก็ตาม การติดของโรคนี้ ติดได้ยากกว่าโควิด-19 เป็นร้อยเท่า ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงเท่านั้นที่จะมีโอกาสได้รับเชื้อในระยะแรกนี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เล็งใช้เชื้อ "ฝีดาษลิง" ชาวไนจีเรีย ทดสอบภูมิคนปลูกฝีในไทย
WHO ประกาศ "ฝีดาษวานร" เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข