วันนี้ (7 ส.ค.2565) เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา เวลา 06.08 น.ตามเวลาประเทศไทย ยานทานูรี (Danuri) หรือในชื่อเดิม Korea Pathfinder Lunar Orbiter (KPLO) ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ เริ่มต้นมุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์ โดยมีกำหนดถึงเป้าหมายในกลางเดือนธ.ค.นี้
นับเป็นภารกิจยานสำรวจดวงจันทร์ภารกิจแรกของเกาหลีใต้ สังกัดสถาบันวิจัยการบินอวกาศเกาหลีใต้ หรือ KARI มีเป้าหมายเพื่อเป็นรากฐานแก่ภารกิจยานสำรวจดวงจันทร์ในอนาคต เช่น การส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์ในปี 2572
ประกาศจากทาง KARI ระบุว่า ยานทานูรี จะเป็นก้าวแรก ในการขยายศักยภาพด้านเทคโนโลยีและการสำรวจอวกาศ โดยการสำรวจดวงจันทร์จะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของเกาหลีใต้ และยังช่วยเพิ่มคุณค่าความเป็นชาติและความภาคภูมิใจในชาติของคนเกาหลีใต้
นับถอยหลังก่อนสู่อวกาศสำเร็จ
ข้อมูลระบุว่า เวลา 06.08 น.จรวด Falcon 9 ของ SpaceX ที่มียานทานูรี ติดตั้งอยู่เริ่มจุดเชื้อเพลิงและทะยานขึ้นจากฐานปล่อยจรวด ณ แหลมคะแนเวอรัล รัฐฟลอริดา สหรัฐฯ ซึ่งจรวดท่อนแรกได้แยกตัวออกมาในช่วง 2.5 นาที หลังจากเริ่มปล่อยจรวด และร่อนกลับลงมาจอดบนเรือ Just Read the Instructionsของทาง SpaceX ในช่วง 9 นาทีหลังปล่อยจรวด
จรวดท่อนที่ 2 รับหน้าที่บรรทุกยานทานูรีมุ่งหน้าสู่อวกาศต่อไป เพื่อปล่อยยานเข้าสู่เส้นทางที่จะมุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์ภายในช่วง 40 นาทีหลังปล่อยจรวด
ยานทานูรีต้องใช้เวลาเดินทางอีก 4 เดือน เนื่องจากต้องค่อย ๆ ปรับวิถีของยานอย่างช้าๆ ใช้เชื้อเพลิงให้คุ้มค่าที่สุด และจะเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์ ช่วงกลางเดือนธ.ค.นี้ จะมีวงโคจรรอบดวงจันทร์เป็นวงกลม ที่มีระดับความสูงเหนือพื้นผิวดวงจันทร์ 100 กิโลเมตร
ภารกิจการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ "ยานทานูรี"
ภารกิจยานทานูรีใช้งบประมาณ 180 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 6,400 ล้านบาท มีภารกิจหลักเพื่อทด สอบเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการเดินทางและสำรวจดวงจันทร์ มีระยะเวลาปฏิบัติภารกิจอย่างน้อย 1 ปี
ตัวยานมีมวล 678 กิโลกรัมบรรทุกอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ 6 ตัว ในจำนวนนี้ 5 ตัวผลิตในเกาหลีใต้ ส่วนอีกตัวหนึ่ง คือ อุปกรณ์ถ่ายภาพ ShadowCam จากองค์การนาซาของสหรัฐฯ ยานทานูรีจะเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับดวงจันทร์ในแง่มุมต่างๆ เช่น
เก็บข้อมูลสนามแม่เหล็กของดวงจันทร์ โดยใช้เครื่องตรวจวัดสนามแม่เหล็กบนยาน ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ทำความเข้าใจเกี่ยวกับซากสนามแม่เหล็กที่หลงเหลือของดวงจันทร์ รวมทั้งถ่ายภาพพื้นผิวดวงจันทร์ เพื่อค้นหาพื้นที่ที่เหมาะสมต่อภารกิจยานลงจอดบนดวงจันทร์ของเกาหลีใต้ในอนาคต
และศึกษาน้ำแข็งบริเวณก้นหลุมอุกกาบาตที่อยู่ใต้เงามืดอย่างถาวร โดยใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพ ShadowCam ที่มีความไวแสงสูงกว่ากล้อง LROC บนยานลูนาร์รีคอนเนสเซนส์ออร์บิเตอร์ (Lunar Reconnaissance Orbiter) ขององค์การนาซา
จากยานทานูรีของเกาหลีใต้ สู่โครงการอาร์ทีมิสของสหรัฐฯ
องค์การนาซา ไม่เพียงแต่ส่งอุปกรณ์ถ่ายภาพ ShadowCam มาติดตั้งบนยานเท่านั้น แต่ยังช่วยคัดเลือกนักวิจัยชาวสหรัฐฯ 9 คนมาร่วมภารกิจนี้ด้วย อี ซัง-รยุล ผู้จัดการโครงการยานทานูรีเคยกล่าวไว้เมื่อปีที่แล้วว่า
เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของ KARI มีนาซาคอยให้การสนับสนุนในการสำรวจอวกาศ พวกเราต่างตื่นเต้นที่จะได้ค้นพบความรู้ และโอกาสใหม่ ๆ จากภารกิจนี้ รวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกันระหว่าง KARI กับนาซาในอนาคต
ความร่วมมือระหว่าง KARI กับนาซาในอนาคต คือโครงการอาร์ทีมิส (Artemis Program) ที่นำโดยองค์การนาซาของสหรัฐฯ มีเป้าหมายเพื่อพามนุษย์ไปสำรวจ และอาศัยอยู่บนดวงจันทร์ในระยะยาว ภายในปี ค.ศ. 2030 จึงจำเป็นต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นบนดวงจันทร์ เพื่อเตรียมการสำหรับภารกิจดังกล่าวในอนาคต
ในเดือนพ.ค.2564 เกาหลีใต้ ได้ลงนามในข้อตกลงอาร์ทีมิส ซึ่งเป็นหลักการเพื่อสนับสนุนและรับผิดชอบการสำรวจดวงจันทร์ในโครงการอาร์ทีมิส ทำให้เกาหลีใต้เป็นชาติลำดับที่ 10 ที่ลงนามในข้อตกลงนี้ และในปัจจุบัน มีชาติต่าง ๆ ร่วมลงนามในข้อตกลงอาร์ทีมิสแล้วทั้งหมด 21 ชาติ
อ้างอิง : https://www.space.com/spacex-launches-south-korea-moon