วันนี้ (8 ส.ค.2565) ศาลภาษีอากรกลาง อ่านคำพิพากษาคดีความแพ่ง หมายเลขดำ ภ.220/2563 ระหว่าง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรมสรรพากร จำเลยที่ 1 นายพงษ์ศักดิ์ เมธาพิพัฒน์ จำเลยที่ 2 นายประภาส สนั่นศิลป์ จำเลยที่ 3 นายพิสิทธิ์ ศรีวรานันท์ จำเลยที่ 4 กรณีประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ "ชินคอร์ป" จำนวน 17,000 ล้านบาท โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาวินิจฉัยว่า เจ้าพนักงานของกรมสรรพาก รถือเอาการออกหมายเรียก นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย และน.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรสาว ในฐานะตัวแทน เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เพราะการประเมินต้องออกหมายเรียกไปยังโจทก์ ซึ่งเป็นผู้ถูกประเมินโดยตรง แต่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานประเมินไม่ได้ออกหมายเรียกตรวจสอบโจทก์ภายในเวลาที่กำหนด และนิติกรรมที่ทำขึ้นทั้งในขณะนั้นและหลังจากนั้น ไม่ก่อให้เกิดการโอนกรรมสิทธ์ในหุ้นของ บริษัทชินคอร์ปฯ เพราะนายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา ไม่ใช่เจ้าของหุ้นที่แท้จริง จึงถือว่านายทักษิณ เป็นเจ้าของหุ้น
ขณะที่กรมสรรพากรให้นายทักษิณ เสียภาษี อย่างผู้มีรายได้พึงประเมินนั้น ศาลถือว่านายทักษิณ ไม่ใช่ผู้มีเงินได้พึงประเมิน ทำให้การประเมินของเจ้าพนักงานไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลภาษีอากรกลาง จึงพิพากษาให้เพิกถอนการประเมิน
กรมสรรพากรเตรียมอุทธรณ์ภายใน 30 วัน
คดีนี้เกิดขึ้นภายหลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาคดีร่ำรวยผิดปกติ ให้ยึดทรัพย์สินในส่วนของทักษิณ และครอบครัว ที่ได้จากการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ จำนวน 46,000 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกผล ตกเป็นของแผ่นดิน
หลังจากนั้นระหว่างปี 2549-2552 กรมสรรพากรได้ประเมินภาษีโอนหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ กับน.ส. พานทองแท้ และน.ส.พินทองทา ว่า เป็นตัวแทนของนายทักษิณ จึงต้องเก็บภาษีจากคนทั้งสอง รวมวงเงิน 17,000 หมื่นล้านบาท จนนำมาสู่การฟ้องร้องคดีนี้
นายสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี กรมสรรพากร ระบุว่า กรมสรรพากร มีเวลาที่จะอุทธรณ์ 30 วัน หลังคำตัดสิน ซึ่งจะหารือกับอัยการ เพื่อดำเนินการต่อไป โดยยังเหลือการพิจารณาในชั้นศาลสูงสุด ซึ่งก็มั่นใจ ในแนวทางการดำเนินการของกรมว่าถูกต้องตามกฏหมาย