ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดใจ "หมอ" ช่วยชีวิต "คนชัก" กลางสนามบินสุวรรณภูมิ

สังคม
10 ส.ค. 65
11:02
11,240
Logo Thai PBS
เปิดใจ "หมอ" ช่วยชีวิต "คนชัก" กลางสนามบินสุวรรณภูมิ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เปิดใจ "นพ.เคารพ วัฒนยา" ช่วยคนไข้ฉุกเฉินมีอาการชัก ก่อนล้มกลางสนามบินสุวรรณภูมิ ระบุ ไม่ใช่ครั้งแรกที่รักษาคนไข้นอกโรงพยาบาลโดยไม่ลังเล เพราะเวลาเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะ 4 นาทีทองที่หากสมองขาดเลือดอาจกลายเป็นเจ้าชายนิทราได้

เมื่อวันที่ 9 ส.ค.2565 ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Pongpinit Poonsawatt  ได้โพสต์รูปภาพ พร้อมข้อความ ระบุว่า "บางที เรื่องไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นรอบตัวเรา" พร้อมเล่าเหตุการณ์ว่า ระหว่างรอเช็กอินเที่ยวบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ พบผู้ประสบเหตุ มีอาการชัก

นพ.เคารพ วัฒนยา รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี และพยาบาล สังกัดโรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี จึงเข้าช่วยเหลือ และ ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก่อนเจ้าหน้าที่การแพทย์ฉุกเฉิน ของสนามบินและเข้ามาดูแลอาการต่อไป 

 

ต่อมา นพ.เคารพ ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า เมื่อวานนี้ขณะที่อยู่สนามบินสุวรรณภูมิเพื่อเดินทางกลับ จ.อุดรธานี ระหว่างนั้น พยาบาลในคณะพบเห็นคนไข้มีอาการชักและล้มหงายหลังลงไปบนพื้นกลางสนามบิน จึงได้วิ่งเข้าไปตรวจอาการทันที โดยอาศัยทักษะจากการเคยทำงานในห้องฉุกเฉิน ทำให้ดำเนินการรักษาคนไข้ได้อย่างรวดเร็ว

ในสถานการณ์ที่ไม่มีอุปกรณ์ให้ใช้ สิ่งแรกที่ทำคือการจัดท่าให้คนไข้นอนตะแคง และดูช่องปาก ว่าคนไข้มีฟันปลอมหรือสิ่งใดที่จะอุดตันการหายใจหรือไม่ ซึ่งคนไข้คนนี้ไม่มีอะไรที่น่ากังวล หลังจากมีอาการชัก 1 นาที คนไข้ก็เริ่มดีขึ้น สอบถามเบื้องต้นพบว่า คนไข้จำเรื่องราวของตัวเองได้ทั้งหมด แต่จำไม่ได้ว่าอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้

เมื่อรู้ว่าคนไข้ชัก สิ่งสำคัญคือต้องตรวจว่าเกิดจากสาเหตุอะไร เพราะอาการชักเกิดได้จากหลายสาเหตุ รุนแรงที่สุด คือการชักจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งต้องมีหน่วยกู้ชีพและอุปกรณ์ช่วยเหลือ แต่โชคดีที่คนไข้คนนี้เกิดจากสาเหตุอื่น

หลังจากปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วเสร็จ ทีมเจ้าหน้าที่จากสนามบินสุวรรณภูมิก็มาวัดความดันและดูแลคนไข้ต่อ เนื่องจากมีการประกาศเรียกขึ้นเครื่องบินแล้ว ทำให้ไม่ได้อยู่ต่อ แต่ทราบว่าคนไข้เป็นผู้โดยสารในไฟล์ตเดียวกัน ซึ่งได้มองหาบนเครื่องบินเหมือนกัน แต่ไม่พบ คาดว่าทีมแพทย์สนามบินอาจรอสังเกตอาการ 24 ชั่วโมง

FB : Pongpinit Poonsawatt

FB : Pongpinit Poonsawatt

FB : Pongpinit Poonsawatt


นพ.เคารพ บอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า นี่ไม่ใช่คนไข้คนแรกที่ต้องรักษานอกโรงพยาบาล ก่อนหน้านี้เคยพบคนไข้ฉุกเฉินทั้งในห้างสรรพสินค้า หรือในงานวิ่งมาราธอน เมื่อพบใครป่วยฉุกเฉินก็จะพุ่งเข้าไปช่วยโดยไม่ลังเลทุกครั้ง

เราเป็นหมอ เห็นคนไข้อยู่ตรงหน้าก็ไม่เคยลังเล ชีวิตทุกคนสำคัญไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ต้องช่วย และคนไข้ฉุกเฉินเวลาเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะ 4 นาทีทอง ที่หากสมองขาดเลือดอาจกลายเป็นเจ้าชายนิทราได้

ขณะที่ นายพงศ์พินิจ พูลสวัสดิ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ เจ้าของเฟซบุ๊กและผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ระบุว่า บางที เรื่องไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นรอบตัวเรา โชคดีที่มีหมออยู่ตรงนั้น หากวันนั้นเป็นผู้ป่วยหนักเข้าถึงการปฐมพยาบาลได้ช้าก็ไม่ทราบว่าอาการจะเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่า หากคนทั่วไปมีความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลรูปแบบต่าง ๆ และสังเกตอาการได้ เตือนภัยกันได้ และสถานที่ต่าง ๆ มีเครื่องมือที่เข้าถึงง่าย มีการประสานงานรวดเร็วก็จะช่วยคนไข้ฉุกเฉินได้อีกมาก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง