ตามหาชาวต่างชาติลอบจับ "ปลานกแก้ว" เกาะพีพีเล

สิ่งแวดล้อม
11 ส.ค. 65
15:27
1,367
Logo Thai PBS
ตามหาชาวต่างชาติลอบจับ "ปลานกแก้ว" เกาะพีพีเล
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อธิบดีกรมอุทยานฯ สั่งตามหาชาวต่างชาติที่โพสต์ภาพถ่ายโชว์ลงโซเชียลจับ "ปลานกแก้ว" เป็นพวง รู้พิกัดแล้วในเกาะพีพีเล อุทยานชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ชี้ตกปลาล่าสัตว์เขตอุทยานฯโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กรณีเพจเฟซบุ๊ก หมอแล็บแพนด้า โพสต์ภาพชายชาวต่างชาติถือพวงปลานกแก้วทีจับขึ้นมาได้ 4-5 ตัวล้วถ่ายภาพโชว์ พร้อมตั้งคำถามว่า มีคนแจ้งเข้ามาเยอะเลยครับ ชาวต่างชาติโพสต์ติ๊กต็อกจับปลานกแก้วในบ้านเราเป็นพวงเลย เอาไงดี

วันนี้ (11 ส.ค.2565) นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ขณะนี้รู้พิกัดแล้วว่า เหตุการณ์ลอบจับปลานกแก้ว เกิดขึ้นที่    เกาะพีพีเล เขตอุทยานแห่งชาติอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ เบื้องต้นได้ประสานให้หัวหน้าอุทยานฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว

ตอนนี้รู้ชื่อเรือ และเจ้าของเรือนำเที่ยว และกำลังประสานให้ดำเนินการตามกฎหมาย
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

เร่งตามตัวดำเนินคดีตามกฎหมาย 

อธิบดีกรมอุทยานฯ ระบุว่า จากการตรวจแอปพลิเคชัน TikTok ผู้โพสต์ใช้ชื่อบัญชี roslanofficial พบคลิปชายหนุ่ม และกัปตันเรือ ยืนถือปลานกแก้ว 3 ตัว ปลาไม่ทราบชนิด 2 ตัว และใช้มีดแทงหัวปลาไหลทะเล 1 ตัว

โดยเจ้าหน้าที่อุทยานหมู่เกาะพีพี ร่วมกับสำนักทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ตรวจสอบบริเวณเกิดเหตุ จับพิกัด เทียบจากภาพถ่าย ชัดเจนว่าอยู่บริเวณเกาะพีพีเล เจ้าหน้าที่ได้รวบรวมหลักฐานเทียบพิกัดตามคลิปวิดีโอ ทราบว่าเรือที่ก่อเหตุชื่อเรือ “เอวาริน” อยู่ระหว่างติดตามผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย 

ภาพ:สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานฯ

ภาพ:สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานฯ

ภาพ:สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานฯ

จับปลานกแก้ว ผิดกฎหมาย

ปลานกแก้ว (Parrotfish) เป็นปลาทะเลขนาดกลางชนิดหนึ่ง มีเกล็ดขนาดใหญ่ จะงอยมีปากยืดหดได้ ปากคล้ายนกแก้ว (เป็นที่มาของชื่อปลานกแก้ว) เนื่องจากปลานกแก้วมีรูปร่าง ลักษณะและสีสันสวยงาม จึงมีผู้นิยมจับมาดูเล่น และนำมาเป็นอาหาร ทำให้ประชากรลดลง ส่งผลกระทบระบบนิเวศ 

ปลานกแก้วชนิดต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นสัตว์กินพืช ยกเว้นในปลานกแก้วหัวโหนก ที่กินปะการังมีชีวิตเป็นอาหาร ปลานกแก้ว ใช้เวลาในแต่ละวันกัดแทะกิน สาหร่ายบนปะการัง มีฟันชนิดพิเศษที่อยู่ในลำคอของปลาทำหน้าที่หน้าที่บดปะการัง เพื่อสกัดสาหร่ายที่ติดกับปะการังให้เป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ เศษปะการังจะถูกขับออกมาเป็นทราย

ซึ่งกระบวนการนี้เองที่ถือได้ว่าปลานกแก้วเป็นผู้สร้างหาดทรายด้วยเช่นกัน โดยประมาณการได้ว่าปลานกแก้ว 1 ตัว สามารถผลิตทรายได้เกือบร้อยกิโลกรัมต่อปีเลยทีเดียว ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา องค์กรอนุรักษ์ มีการรณรงค์ทุกท่านร่วมกัน ไม่สนับสนุน ไม่ซื้อ ไม่กินปลานกแก้ว หากพบเห็นการจับปลานกแก้วในเขตอุทยานแห่งชาติให้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย

ภาพ:สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานฯ

ภาพ:สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานฯ

ภาพ:สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานฯ

เปิดประกาศกรมอุทยานฯจับปลาในพื้นที่ผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีประกาศฉบับลงวันที่ 11 ส.ค.2558 ห้ามกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวน เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือทำอันตรายกับสัตว์ต่างๆ ทุกชนิดในอุทยานแห่งชาติ หากฝ่าฝืนจะมีความผิดและต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504

มาตรา 16 (3) นำสัตว์ออกไปหรือทำอันตรายด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ ประกอบกับ
มาตรา 21 ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 16 ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ หรือ งดเว้นการกระทำใดๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งถือว่าเป็นความผิดตามมาตรา 24 ผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 16(3) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตือนจับ "ปลานกแก้ว" โทษสูงจำคุก 5 ปีปรับไม่เกิน 2 หมื่น
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง