ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

The EXIT แรงงานเรือผี กับ 4 ปีที่ถูกลอยแพ ตอน 3

สังคม
12 ส.ค. 65
15:15
218
Logo Thai PBS
The EXIT แรงงานเรือผี กับ 4 ปีที่ถูกลอยแพ ตอน 3
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อาจไม่ใช่ครั้งสุดท้ายสำหรับการช่วยเหลืออดีตลูกเรือประมงไทย 4 คนที่ถูกลอยแพที่มาเลเซียกลับบ้านเมื่อ 2 เดือนก่อน ยังมีคนตกค้างอยู่ที่นั่นและหนังสือเดินทางทยอยหมดอายุในปีนี้ ขณะที่ 4 คนที่กลับมาแล้วยังรอคอยการเยียวยาที่มาไม่ถึง

 

ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือ Trafficking in Persons Report - TIP Report ประจำปี 2565  ของกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา  ปรากฏชื่อ “มาเลเซีย” เป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเทียร์ 3 - Tier 3  ซึ่งหมายถึงการเป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำที่สุดตามกฎหมายสหรัฐฯ และไม่มีความพยายามแก้ปัญหาการค้ามนุษย์

นับเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันที่ “มาเลเซีย” ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม เทียร์ 3 - Tier 3 หลังเคยอยู่ในกลุ่มเทียร์ 2 ที่ต้องเฝ้าระวัง หรือ Tier 2 Watch List เช่นเดียวกับประเทศไทยในปี 2561

แต่การที่ไทยซึ่งขยับเป็นเทียร์ 2 ในปีนี้และมาเลเซียที่อยู่ในกลุ่มเทียร์ 3  ล้วนถือว่าเป็นประเทศที่ยังต้องพยายามอย่างหนักเพื่อปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายปกป้องผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ให้ได้  

นี่อาจสะท้อนว่า กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นกับอดีตแรงงานประมงไทย 4 คนที่ถูกลอยแพในประเทศมาเลเซียก่อนได้รับการช่วยเหลือกลับสู่ประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2565 เป็นเพียงปลายยอดภูเขาน้ำแข็ง

 

ปี 2558 ประเทศไทยได้รับการแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมาธิการยุโรป ฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป ถึงแนวโน้มที่อาจถูกระบุว่าเป็น “ประเทศที่สามที่ไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม” หรือ IUU Fishing หากไม่เร่งแก้ไข ไทยอาจสูญเสียรายได้จากการส่งออกสัตว์น้ำไปยังสหภาพยุโรปและประเทศต่างๆ ปีละกว่า 17,000 ล้านบาท

อดีตแรงงานประมงไทย บอกว่า ช่วงที่อยู่ในรัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย เขาเห็นเรือประมงไทยมากกว่า 30 ลำ ถูกจอดทิ้งอยู่ที่ท่าเรือเพราะกลับประเทศไทยไม่ได้ สาเหตุจากนโยบายแก้ปัญหา IUU ของรัฐบาลไทย

ลูกเรือชาวไทยที่เดินทางไปกับเรือประมงเหล่านี้ต่างถูกลอยแพ ต้องดิ้นรนหางานทำที่มาเลเซียโดยใช้หนังสือเดินทางเป็นหลักฐานในการสมัครงาน

สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น คือ หนังสือเดินทางของแรงงานประมงที่เดินทางออกจากประเทศไทยช่วงปี 2560-2562 จะทยอยหมดอายุตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป

เมื่อไม่มีหนังสือเดินทาง ก็จะไม่สามารถหางานทำได้ คาดการณ์ว่า จะมีอดีตแรงงานประมงที่ยังตกค้างอยู่ที่ประเทศมาเลเซียขอความช่วยเหลือให้พากลับประเทศไทยเพิ่มขึ้น

เท่าที่จำได้คร่าว ๆ ตอนนี้ก็ยังมีคนไทย 20-30 คนที่ยังไม่อยากกลับจากมาเลเซีย เพราะหนังสือเดินทางยังไม่หมดอายุ ยังพอหางานทำได้ ถึงแม้จะเปลี่ยนจากนายจ้างคนไทยไปเป็นคนมาเลเซียหมดแล้ว  แต่อีกไม่กี่ปีก็จะค่อย ๆ หลุดมาทีละคน เพราะว่าหนังสือเดินทางจะหมดทำนองเดียวกันช่วง 5 ปี ก็จะไล่ ๆ กัน อาจจะต่างกันไม่กี่เดือน

2 เดือนแล้ว ที่อดีตแรงงานประมงชาวไทย 4 คน ได้รับการช่วยเหลือกลับสู่ประเทศไทย หลังจาก ถูกลอยแพต้องเร่ร่อนทำงานรับจ้างอยู่ที่มาเลเซียนานหลายปี

 

พวกเขาเข้าให้ปากคำกับศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) 2 ครั้ง และ ไปที่กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์(บก.ปคม.) 2 ครั้ง เพื่อหาหลักฐานดำเนินคดีกับนายจ้าง พร้อมกับพิจารณาว่าเข้าข่ายผู้เสียหายจากขบวนการค้ามนุษย์หรือไม่

 

คดียังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากไม่สามารถหาหลักฐานมาเอาผิดนายจ้างได้ แม้ว่าลูกเรือทั้ง 4 คนจดจำชื่อเรือได้แต่เมื่อสอบถามไปยังบุคคลที่มีรายชื่อเป็นเจ้าของเรือกลับปฏิเสธ โดยอ้างว่าขายเรือให้คนอื่นก่อนหน้านั้นแล้ว

การเรียกร้องค่าตอบแทนการทำงานที่ทั้ง 4 คนยังได้รับไม่ครบจำนวนก็มีอุปสรรคเช่นกัน เพราะตามกฎหมาย ลูกจ้างต้องเรียกร้องต่อนายจ้างภายในอายุความ 2 ปี ขณะที่ แรงงานประมงทั้ง 4 คน ถูกทิ้งไว้ที่ประเทศมาเลเซียนานกว่า 4 ปี ทำให้คดีหมดอายุไปแล้ว

 

กม.ไทยมีอายุความว่า นายจ้างจ่ายค่าจ้างย้อนหลังแค่ 2 ปี หรือ บังคับให้นายจ้างเก็บหลักฐานการจ่ายค่าแรงแค่ 2 ปี แต่กรณีนี้ลูกเรือถูกทิ้งไว้มากกว่า 2 ปี กม.มันไม่เป็นธรรมกับคนที่ถูกทิ้งไว้ หรือคนที่เป็นผู้เสียหายของการค้ามนุษย์ ทั้งที่จริง ๆ นายจ้างควรต้องจ่ายค่าแรงที่ค้างไว้รวมค่าเสียเวลาที่ลูกจ้างถูกทิ้งไว้ด้วย  นี่อาจเป็นสิ่งที่ต้องผลักดันเพื่อช่วยเหลือแรงงานในอนาคต

วันนี้ อดีตแรงงานประมง 4 คน ยังเป็นคนว่างงานไม่มีรายได้ 3 ใน 4 คน อาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงฟื้นฟูเยียวยาและฝึกอบรมผู้ประสบปัญหาด้านแรงงานของมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หนึ่งในนั้นพิการจากการทำงานบนเรือประมงในประเทศมาเลเซียและป่วยเป็นโรคไต อยู่ระหว่างฟื้นฟูร่างกาย

หากแรงงานเหล่านี้ไม่ได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนด้านการทำงานย่อมมีความเป็นไปได้สูงที่จะกลับสู่วังวนเดิม และ อาจตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกหลอกลวงอีกครั้ง

 

ประเทศมาเลเซียถือเป็นแหล่งงานสำคัญของแรงงานชาวไทย มีข้อมูลว่าก่อนสถานการณ์โควิด-19 มาเลเซียมีแรงงานไทยทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายรวมกันมากกว่า 3 แสนคน ส่วนมากอยู่ในภาคประมง ภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจบันเทิง รวมถึง แรงงานในร้านอาหารไทย หรือที่เรียกว่า ร้านต้มยำกุ้ง   คาดการณ์ว่า เมื่อไทยและมาเลเซีย เปิดประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 จะมีแรงงานไทยจำนวนมากเดินทางเข้าสู่ประเทศมาเลเซียอีกครั้ง

แรงงานเรือผีกับ 4 ปีที่ถูกลอยแพ ตอน 1

แรงงานเรือผีกับ 4 ปีที่ถูกลอยแพ ตอน 2

ข่าวที่เกี่ยวข้อง