วันนี้ (13 ส.ค.2565) น.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ท่ามกลางภาวะสังคมสูงวัยและวิกฤตโรคระบาด ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มยอดเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 อาจเพิ่มขึ้น มากกว่า 80,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน

กรมบัญชีกลาง จึงเตรียมปรับรายการเบิกจ่ายยาต้นแบบและยาสามัญ จากยาราคาสูง เป็นยาที่ผลิตในประเทศ แต่มีประสิทธิภาพเทียบเท่า และได้รับการรับรองจากสมาคมวิชาชีพ ควบคู่กับการใช้ระบบเบิกจ่ายตรง หลังพบพฤติกรรมข้าราชการทุจริตจากการใช้สิทธิ์สวัสดิการเบิกค่ารักษาพยาบาล โดยได้ระงับสิทธิ์ไปแล้ว 19 คน
รายงานจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เคยมีแนวคิดนำบริษัทประกันเข้ามาเป็นกลไก ลดงบประมาณค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ และครอบครัวบุคลากรที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงนำไปสู่การว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา เบื้องต้นพบว่า แนวคิดนี้อาจไม่เหมาะสม เพราะต้องตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมารับผิดชอบโดยตรง จึงต้องกลับไปให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการตรวจสอบแทนการรอนสิทธิ์
ทั้งนี้ ข้อมูลจากระบบเบิกจ่ายตรงสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการกว่า 4,700,000 คน แบ่งเป็นเจ้าของสิทธิ์ 2,200,000 คน และบุคลากรในครอบครัว 2,500,000 คน ใช้งบประมาณ และงบกลางมากกว่า 74,000 ล้านบาท เป็นค่ารักษาโรคทั่วไป 65,000 ล้านบาท และโควิดกว่า 9,000 ล้านบาท
อ่านข่าวอื่น ๆ
ชวนโหลดแอปฯ "ทางรัฐ" เช็กสวัสดิการ-ใบสั่งจราจร ครบในที่เดียว
ก.แรงงานส่งสัญญาณขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-8% ในปี 66