วันนี้ (14 ส.ค.2565) กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ว่า การติดตามสถานการณ์แม่น้ำโขง พบว่าในช่วงวันที่ 11-12 ส.ค.2565 มีฝนตกหนักต่อเนื่องบริเวณเหนือพื้นที่แขวงหลวงพระบาง ลาว ทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนไซยะบุรีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ด้านท้ายเขื่อนมีระดับน้ำเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงบริเวณริมแม่น้ำโขง ตั้งแต่จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี อาจได้รับผลกระทบจากระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นประมาณ 1-2 เมตรอย่างฉับพลัน ในช่วงวันที่ 14-18 ส.ค.2565
น้ำท่วม 11 จังหวัด
พายุโซนร้อน “มู่หลาน” ได้อ่อนกําลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน บริเวณเมืองลางซอน เวียดนาม และอ่อนกําลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกําลังแรง ประกอบกับมีร่องมรสุม พาดผ่านเมียนมา ภาคเหนือตอนบนของไทย และลาวตอนบน ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 11-13 ส.ค.
สำหรับพื้นที่เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขัง ทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา น่าน พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง
- แม่ฮ่องสอน น้ำท่วม 2 อำเภอ ได้แก่ อ.ปาย และ อ.ปางมะผ้า สถานการณ์คลี่คลายแล้ว
- เชียงราย น้ำท่วม 8 อำเภอ ได้แก่ อ.ขุนตาล อ.เวียงแก่น อ.เมือง อ.เชียงแสน อ.เชียงของ อ.แม่จัน อ.เทิง และ อ.แม่สาย ปัจจุบันระดับน้ำจะลดตามลำดับ และกลับสู่ภาวะสถานการณ์ปกติภายใน 1-2 วัน
- เชียงใหม่ น้ำท่วม 4 อำเภอ ได้แก่ อ.ฝาง อ.แม่อาย อ.เวียงแหง และ อ.สะเมิง ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว
- พะเยา น้ำท่วม 2 อำเภอ ได้แก่ อ.ภูซาง และ อ.แม่ใจ ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว
- น่าน น้ำท่วม 4 อำเภอ ได้แก่ อ.บ่อเกลือ อ.ทุ่งช้าง อ.เมือง และ อ.ท่าวังผา ปัจจุบันระดับน้ำลดลง จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1-2 วัน
- พิษณุโลก น้ำท่วม อ.นครไทย สถานการณ์จะคลี่คลายแล้ว
- พิจิตร น้ำท่วม อ.สากเหล็ก ทำให้น้ำเอ่อล้นลำคลองและไหลเข้าสู่พื้นที่การเกษตร และบ้านเรือนประชาชน คาดว่า 1-2 วัน หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม สถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
- เพชรบูรณ์ นํ้าท่วม อ.หล่มสัก โดยที่สถานี S.3 อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ระดับน้ำ7.62 ม.รทก.ต่ำกว่าตลิ่ง -0.68 ม.รทก. ปริมาณน้ำ 61.38 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลง
- สุพรรณบุรี น้ำท่วม 3 อำเภอ ได้แก่ อ.อู่ทอง อ.เมือง และ อ.บางปลาม้า ทำให้เกิดน้ำท่วมขังการเกษตรลุ่มต่ำ คาดาไม่เกิน 7-14 วัน สถานการณ์จะคลี่คลาย
- พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง มีพื้นที่น้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรลุ่มต่ำรวม 6 อำเภอ ได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.บางบาล อ.บางปะหัน อ.เสนา อ.ผักไห่ และ อ.ท่าเรือ) และ จ.อ่างทอง (อ.ป่าโมก) ปัจจุบันปริมาณฝนในพื้นที่ลดลงการระบายน้ำจากท้ายเขื่อนเจ้าพระยามีแนวโน้มทรงตัว (เขื่อนเจ้าพระยามีการระบายน้ำอยู่ที่ 1,200 ลบ.ม/วินาที)