วันที่ 13 ส.ค.2565 นักปกป้องสิทธิมนุษยชน กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จัดงาน “ชัยชนะที่ไม่หยุดนิ่ง 2 ปี ดงมะไฟยังไปต่อ” เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบการเคลื่อนไหวปกป้องทรัพยากรในชุมชน จนยุติการดำเนินกิจการเหมืองหินดงมะไฟ ที่หมู่บ้านภูผาฮวกพัฒนาชาวประชาสามัคคี ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู พร้อมฟื้นฟูภูผาป่าไม้ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เพื่อวางรากฐานไปสู่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและอารยธรรมโบราณคดี
2 ปี ปิดเหมืองหินดงมะไฟ
กว่า 2 ปี หลังจากที่ชาวบ้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ได้ร่วมกันต่อสู้เคลื่อนไหวต่อเนื่องยาวนานกว่า 26 ปี จนสามารถปิดเหมืองหินและโรงโม่ ในปี 2563
ตามข้อเรียกร้องของกลุ่ม 3 ข้อ คือ 1.ปิดเหมืองแร่หินปูนและโรงโม่หิน 2.ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ และ 3.พัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและแหล่งอารยธรรมโบราณคดี
ข้อเรียกร้องที่ 1 สำเร็จในปี 2563 และจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ตามข้อเรียกร้องที่ 2 ซึ่งชาวบ้านนักปกป้องสิทธิฯ ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้กว่า 1,400 ต้น บน “ภูผาฮวก” เพื่อวางรากฐานไปสู่การพัฒนาดงมะไฟ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม และอารยธรรมโบราณคดีในอนาคต ตามข้อเรียกร้องที่ 3
หลังได้รับผลกระทบและถูกทำลายจากการระเบิดหิน เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) บนเนื้อที่ 175 ไร่ โดยเมื่อวันที่ 3 ก.ย.2563 ที่ผ่านมา เป็นวันที่ใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอยและป่านากลาง เพื่อทำเหมืองหินปูน ได้สิ้นสุดอายุใบอนุญาต
ค่ายนักอนุรักษ์น้อย ปี 2
นอกจากความเคลื่อนไหวของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ซึ่งมีกลุ่มผู้ใหญ่ เป็นกำลังหลัก เด็กและเยาวชนลูกหลานในพื้นที่ ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ยังนับเป็นอีกความหวังและคนแห่งอนาคต ที่จะร่วมฟื้นฟูภูผาป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชีวิตของชุมชน
การสำรวจสิ่งมีชีวิตและความหลากหลายทางชีวภาพของเยาวชน ใน ค่ายนักอนุรักษ์น้อย ปี 2 เป็นอีกกิจกรรมการเรียนรู้ที่สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม Society of Young Social Innovators หรือ SYSI ร่วมกับ โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได และกลุ่ม WHAT WILD (สัตว์ไรนิ)
เราชวนเด็ก ๆ พื้นที่ดงมะไฟไปสำรวจถ้ำรอบ ๆ เหมืองดงมะไฟ ตอนเช้าไปกันสองถ้ำ ชวนเด็ก ๆ ให้ดูว่า ในถ้ำมีสัตว์ชนิดไหนบ้างที่อยู่ เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ว่า ในถ้ำมีสิ่งมีชีวิตไหนบ้าง โดยนำแอปพลิเคชั่น INaturalist มาใช้ในกระบวนการร่วมกัน เราให้เด็กดู สังเกต แล้วถ่ายรูปอัปโหลดลงแอปพลิเคชัน
นิสาพรรณ์ หมื่นราม หนึ่งในพี่เลี้ยงอาสา เล่าถึงบางส่วนของกระบวนการเรียนรู้ในค่ายนักอนุรักษ์น้อย ปี 2 ที่เน้นการสังเกต จดบันทึก และเชื่อมโยงสิ่งมีชีวิตกับถิ่นที่อยู่อาศัย ซึ่งเชื่อมโยงถึงความสำคัญของระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ชุมชน
มองว่าพื้นฐานของเด็กที่จะนำไปต่อยอดการอนุรักษ์ สิ่งสำคัญ คือ เขาต้องเข้าใจว่าบ้านเขามีอะไรก่อน พอเขาเข้าใจแล้ว เขาจะได้เรียนรู้ แล้วก็ตระหนักว่าเขาต้องทำอย่างไรต่อ เช่น เขาจะอนุรักษ์มันเพื่อให้มันอยู่ต่อ หรือว่าเขาจะเกิดความหวงแหนเพิ่มขึ้น
ถ้ำเหมืองดงมะไฟเป็นถ้ำที่มีความหลากหลายสูงมาก เจอถ้ำบาดาล มุดลงไปแล้วพบสภาพนิเวศ หน้าผา ลักษณะของถ้ำบริเวณนี้ เป็นถ้ำหินปูน มีหินงอกหินย้อย มีทัศนียภาพที่สวยงามมาก บางถ้ำมีภาพเขียนโบราณด้วย คิดว่าถ้ำของในโซนเหมืองดงมะไฟต้องอนุรักษ์ไว้
นอกจากนี้ หลังมีการสำรวจพื้นที่ภายในถ้ำ นักอนุรักษ์น้อยได้บันทึกข้อมูลสิ่งมีชีวิตที่พบเห็น เช่น ผีเสื้อ แมงมุม จิ้งหรีดถ้ำ กิ้งกือกระบอก ค้างคาวหน้ายักษ์ บึ้ง แมงมุมบ้าน และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อีกหลายชนิด ผ่านภาพวาด และเรียนรู้กับวิทยากรจาก กลุ่ม WHAT WILD (สัตว์ไรนิ) และนำเสนอแบ่งปันกับเพื่อน ๆ ที่ร่วมสำรวจ
รวมถึงผู้ปกครองกลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ซึ่งข้อมูลที่ได้ยังร่วมยืนยันว่า บริเวณดังกล่าวมีความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศของภูเขาหินปูนที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และหวงแหน
ความหวังและคนแห่งอนาคตชุมชนดงมะไฟ
เมื่อก่อนการคัดค้าน เมื่อเราไปยื่นหนังสือเสร็จ ก็แยกย้ายกลับบ้าน แต่เดี๋ยวนี้เรามารวมกันอยู่ที่นี่จนครบ 2 ปี ถ้าจะพูดถึงชั่วโมง วันที่ 13 ส.ค. ที่จะถึงนี้ ครบ 17,522 ชั่วโมงเต็ม
สมควร เรืองโหน่ง นักปกป้องสิทธิกลุ่มอนุรักษ์ชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได คำนวณตัวเลขรายชั่วโมงอย่างแม่นยำ เพื่อย้ำถึงระยะเวลาความสำเร็จ หลังปิดเหมืองหินดงมะไฟ ซึ่งครบรอบ 2 ปี ของชัยชนะจากการปกป้องทรัพยากรสิ่งแวดล้อมในถิ่นฐานบ้านเกิดที่ยังต้องดำเนินต่อไป
สิ่งที่เราทำไปแล้ว คือ หนึ่งรวมตัวกันมาเพาะพันธุ์กล้าไม้และนำขึ้นไปปลูก ในปีนี้มาเพาะพันธุ์ไม้นำไปปลูกเหมือนเดิม เพื่อที่จะฟื้นฟูพื้นที่ที่ถูกทำลายกลับคืนมา
อันที่สอง คือ เราได้มาทำนารวมเพื่อเอาทุน เอาเงิน เอาข้าว เพื่อที่จะเป็นอาหารการกิน เนื่องจากว่ามันจะไม่ได้รบกวนทางบ้านจนเกินไป
นอกจากนี้คือเฝ้าระวังเรื่องประชุมของ อบต. ที่เราต้องขอเข้าร่วมทุกครั้ง เพื่อมีมติเรื่องที่เกี่ยวกับเหมือง อันนี้ทำไปแล้ว อีกอย่างคือการรวมกลุ่มกัน รวมตัวกัน
ส่วนที่ให้เด็กมาเรียนรู้มีผลดีหลายอย่าง เขาต้องรู้ว่าทรัพยากร หรือป่าไม้ที่มีมันมีความอุดมสมบูรณ์ และมีความสำคัญกับเขาในอนาคต อย่างน้อยก็ต้องให้เขาได้รับรู้ ว่าคุณค่าของป่ามันเกิดอะไรขึ้น ให้เด็กเข้ามาศึกษาเรื่องพันธุ์ไม้ศึกษาเรื่องสัตว์ต่าง ๆ ”
28 ปี ของการต่อสู้อย่างยาวนาน ความหวังจากรุ่นสู่รุ่นเริ่มก่อตัวและชัดเจนขึ้นอีกครั้ง เมื่อเยาวชนลูกหลานในชุมชน ได้ร่วมเรียนรู้ เพื่อรู้จัก เข้าใจ และหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน ผ่านสิ่งมีชีวิตและความหลากหลายทางธรรมชาติของระบบนิเวศ ซึ่งหวังให้เป็นส่วนหนึ่งที่ทุกคนจะได้ร่วมออกแบบถิ่นฐานบ้านเกิดของพวกเขา ในฐานะความหวังและคนแห่งอนาคตของชุมชนดงมะไฟ