ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ข่าวดีไทยพบ "บุศรินทร์” ​พืชสกุลขมิ้น​ ชนิดใหม่ของโลก

Logo Thai PBS
ข่าวดีไทยพบ "บุศรินทร์” ​พืชสกุลขมิ้น​ ชนิดใหม่ของโลก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ข่าวดี! คณะอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร ค้นพบ "บุศรินทร์” ​ พืชสกุลขมิ้น​ ชนิดใหม่ของโลก พบแห่งเดียวที่จ.นครพนม เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เพราะไม่อยู่ในเขตอนุรักษ์ เร่งเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพิ่มประชากร และต่อยอดศักยภาพสมุนไพร

วันนี้ (16 ส.ค.2565) สมาคมพฤกษศาสตร์ในพระบรมราชินูปถัมภ์ Botanical Society of Thailand เผยแพร่ข่าวดี ค้นพบพืชสกุลกระเจียวชนิดใหม่ของโลก ตั้งชื่อว่า “บุศรินทร์” มีความหมายว่า “ดอกบัวของพระอินทร์” (Curcuma stahlianthoides Škorničk. & Soonthornk.) มีความหมายว่าดอกบัวของพระอินทร์ และได้รับตีพิมพ์บทความลงในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Blumea - Biodiversity, Evolution and Biogeography of Plants เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

คณะผู้วิจัยประกอบด้วย ดร.ศุทธิณัฏฐ์ สุนทรกลัมพ์ ดร.จุฑามาศ กองผาพา และ ดร.สุคนธ์ทิพย์ เวียนมานะ อาจารย์คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร ร่วมกับน.ส.ณัชชา กุลภา ประธานวิสาหกิจชุมชนทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่ ต.ท่าก้อน อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร และ Dr. Jana Leong-Škorničková นักอนุกรมวิธานผู้เชี่ยวชาญพืชสกุลกระเจียว อันดับหนึ่งของโลกจากสวนพฤกษศาสตร์ ประเทศสิงคโปร์

การค้นพบครั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้รับการประสานงานจากน.ส.ณัชชา ว่าได้พบพืชลักษณะคล้ายว่านเพชรน้อย ในพื้นที่เกษตรกรรมแห่งหนึ่งของ จ.นครพนม จึงได้ลงพื้นที่สำรวจ เก็บตัวอย่าง ข้อมูล พร้อมถ่ายภาพสภาพถิ่นที่อาศัย จากนั้นจึงนำตัวอย่างและข้อมูลกลับมา ตรวจสอบกับข้อมูลพืชสกุลกระเจียวในพิพิธภัณฑ์พืชต่างๆ 

พร้อมทั้งประสานส่งให้กับ Dr. Jana Leong-Škorničková นักอนุกรมวิธานผู้เชี่ยวชาญพืชสกุลกระเจียว (Curcuma) อันดับหนึ่งของโลกจากสวนพฤกษศาสตร์ประเทศสิงคโปร์ พบว่าพืชชนิดนี้ เป็นพืชสกุลกระเจียวชนิดใหม่ของโลก ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ออนไลน์ในวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา

ภาพ :เฟซบุ๊ก Kasetsart University

ภาพ :เฟซบุ๊ก Kasetsart University

ภาพ :เฟซบุ๊ก Kasetsart University

ความโดดเด่นพืชชนิดใหม่ของโลก 

สำหรับพืชสกุลกระเจียวชนิดใหม่ของโลกตั้งชื่อว่า "บุศรินทร์" พบในพื้นที่เกษตรกรรมแห่งหนึ่งของจังหวัดนครพนม ประเทศไทย เป็นพืชล้มลุกสูงประมาณ 50 ซม. มีลำต้นใต้ดินรูปไข่ ลำต้นใต้ดินมีการแตกแขนง เนื้อด้านในลำต้นสีขาวครีม ใบรูปรีแคบคล้ายใบหญ้า แผ่นใบและก้านใบมีสีเขียว ช่อดอกออกที่ด้านข้างของลำต้นมักเกิดก่อนใบ

ส่วนต้นที่เติบโตและอยู่ในพื้นที่ได้รับแสงอาทิตย์มาก ก้านช่อดอกสั้น และฝังอยู่ในดิน แต่ในต้นที่เจริญในที่ร่มก้านช่อดอกจะยาวโผล่พื้นดิน ช่อดอกมีใบประดับรูปไข่หรือรูปไข่กว้าง ปลายใบประดับโค้งลง จำนวน 3-11 กลีบ มีสีเขียว กลีบดอกมีสีขาวเกือบทุกกลีบ กลีบปากรูปไข่กลับ มีแถบสีเหลืองสดที่กึ่งกลางของกลีบปากส่วนปลายกลีบปากแยกเป็นสองพู ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆคล้ายมะลิ

ลักษณะที่โดดเด่นของบุศรินทร์ ที่บ่งบอกว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก คือการมีลักษณะร่วมกันระหว่างพืชสกุลกระเจียว และสกุลว่านเพชรน้อยโดย มีดอกที่คล้ายกับพืชสกุลว่านเพชรน้อย แต่ลักษณะของช่อดอกมีใบประดับหลายใบ ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปในพืชสกุลกระเจียว และยังพบว่ามดช่วยในการกระจายเมล็ดของบุศรินทร์ ซึ่งมดจะถูกล่อด้วยสารเคมีในเยื่อหุ้มเมล็ดของบุศรินทร์

 

ภาพ :เฟซบุ๊ก Kasetsart University

ภาพ :เฟซบุ๊ก Kasetsart University

ภาพ :เฟซบุ๊ก Kasetsart University

 

สำหรับการตั้งชื่อนั้น บุศรินทร์ เป็นชื่อสามัญได้มาจากลักษณะของใบประดับที่มีใบสีเขียวเรียงซ้อนกันตั้งแต่ 3-11 กลีบ ลักษณะคล้ายกับดอกบัวจึงตั้งชื่อว่า บุศรินทร์ อันมีความหมายว่า ดอกบัวของพระอินทร์

ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์นั้น "บุศรินทร์" จัดอยู่ในสกุลเดียวกับกระเจียว โดยลักษณะดอกของบุศรินทร์ มีความคล้ายคลึงกับพืชในสกุลว่านเพชรน้อย หรือ Stahlianthus จากการศึกษาทางชีวโมเลกุลก่อนหน้าของ Záveská และคณะในปีพ.ศ.2555 พบว่าพืชในสกุลว่านเพชรน้อย มีความใกล้ชิดกับพืชในสกุลกระเจียวมากจนสกุลว่านเพชรน้อยถูกรวมเข้ามาอยู่ในสกุลกระเจียว

ทางคณะผู้วิจัย จึงมีความเห็นตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma stahlianthoides ซึ่งสื่อถึงลักษณะของบุศรินทร์ที่มีลักษณะคล้ายกับว่านเพชรน้อย

ภาพ :เฟซบุ๊ก Kasetsart University

ภาพ :เฟซบุ๊ก Kasetsart University

ภาพ :เฟซบุ๊ก Kasetsart University

พบแห่งเดียวจ.นครพนม-เสี่ยงสูญพันธ์ุ

ดร.ศุทธิณัฏฐ์ กล่าวว่า ปัจจุบันบุศรินทร์ พบเพียงที่ จ.นครพนมเท่านั้น แต่มีรายงานอย่างไม่ทางการว่าอาจจะพบในประเทศลาวด้วย ส่วนต่อยอดจากการค้นพบพืชชนิดใหม่ โดยทั่วไปพืชในวงศ์ขิง-ข่า จะมีการสร้างน้ำมันหอมระเหยในทุกส่วนของต้น แต่ตอนนี้ ไม่มีการศึกษาทางพฤกษเคมีในบุศรินทร์ หากมีการศึกษาในด้านนี้ อาจจะพบสารที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์ทางสมุนไพรได้ในอนาคต

จากการสำรวจประชากรของบุศรินทร์ ขึ้นอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรม ไม่ได้อยู่พื้นที่อนุรักษ์ ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการถูกทำลายจากการทำการเกษตร ทางผู้วิจัย ได้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากเมล็ด เพื่อเป็นการอนุรักษ์นอกถิ่นอาศัย เพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัยในอนาคต


เอกสารอ้างอิง
https://www.ingentaconnect.com/.../content-nbc-blumea-0630

https://doi.org/10.3767/blumea.2022.67.01.09

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง