วันนี้ (16 ส.ค.2565) นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ปกครองเล่นฟิลเตอร์ "ผีหลอกเด็ก" ในแอปพลิเคชัน Tiktok พร้อมนำคลิปภาพมาเผยแพร่โดย คลิปดังกล่าวจะเป็นลักษณะของพ่อแม่ ผู้ปกครองเปิดหน้าจอโทรศัพท์ให้เด็กดู จากนั้นจะใช้ฟิลเตอร์รูปผีปรากฏตัวขึ้นภายในห้อง จากนั้นพ่อแม่จะวิ่งหนีออกจากห้องพร้อมกับล็อกห้องโดยทิ้งเด็กไว้ภายในห้องเพียงลำพัง
จากนั้นเด็กจะตกใจ ร้องไห้ พร้อมกับร้องขอความช่วยเหลือ และเมื่อวิ่งหนีก็จะไม่สามารถออกจากห้องได้ เนื่องจากห้องถูกล็อกและต้องอยู่ภายในห้องเผชิญความกลัวเพียงลำพัง
นพ.วรตม์ กล่าวว่า โดยปกติเด็กจะกลัวความมืด ที่แคบ สัตว์ร้าย กลัวผี หรือ สัตว์ประหลาด ซึ่งการขู่ให้กลัวนี้จะสร้างผลกระทบต่อเด็กอย่างมาก โดยเฉพาะกรณีที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือ คนใกล้ชิด ขู่ หรือ ปล่อยให้เด็กต้องเผชิญความหวาดกลัวเพียงลำพัง โดยที่ไม่ได้ปลอบใจ หรือช่วยประคับประคองจิตใจ จะนำเด็กไปสู่ภาวะ The fight or flight คือ การสู้ หรือ ตื่นกลัว
การที่พ่อแม่ได้ล็อกห้องและปล่อยให้ลูกต้องเผชิญเหตุการณ์ดังกล่าวเพียงลำพังจะส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรง เกิดภาวะเครียดอย่างรุนแรง กลัวอย่างรุนแรง หรือ เกิดภาวะป่วยทางจิตใจเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง ส่งผลให้เกิดความเครียด หรือ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder)
เด็กอาจเกิดอาการฝังใจ กลัวความมืด กลัวที่แคบ อาจเกิดเป็นโรควิตกกังวล ซึมเศร้า หรือ PTSD ได้ การขู่ให้กลัวเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ หรือเช่นกรณีที่ผ่านมามักจะพบ การขู่ให้กลัวหมอฉีดยา เด็กก็จะกลัวการฉีดยา
นพ.วรตม์ ยังกล่าวว่า สิ่งสำคัญก็คือเมื่อถูกล็อกห้องไม่มีคนช่วยเหลือเด็กจะรู้สึกสิ้นหวัง (Helplessness) ซึ่งพ่อแม่ควรเป็นผู้ที่ให้ความช่วยเหลือเขาแต่ไม่ได้ให้การช่วยเหลือ ก็จะทำให้เขารู้สึกสิ้นหวังในชีวิต เมื่อโตขึ้นไปในอนาคตก็จะกลายเป็นผู้ที่มองโลกในแง่ลบ ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างมีปัญหาได้
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่ผู้ปกครองควรตระหนักก็คือ ความเป็นส่วนตัว (Privacy) ของเด็กในโลกดิจิทัล หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งการถ่ายรูป หรือ คลิป ที่อาจทำให้เด็กไม่พอใจ หรือ อับอาย ซึ่งสิ่งนี้เป็น Digital Footprint ที่จะอยู่ในอินเทอร์เน็ตไปอีกยาวนาน ซึ่งผลกระทบจะมีอย่างมากในอนาคต เมื่อเด็กโตขึ้นและรู้เรื่องก็อาจจะโกรธพ่อแม่ และเกิดเป็นปัญหาของครอบครัว
ฟิลเตอร์ต่าง ๆ สร้างขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนมีความสุข หรือ สนุก ร่วมกัน ความขบขันไม่ควรเกิดจากการเจ็บปวดของคนอื่น ๆ ความขำขันควรเกิดจากทุกคนมีความสุขร่วมกัน
ดังนั้น แอปพลิเคชัน หรือ ฟิลเตอร์ต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นมาล้วนมีจุดประสงค์ในแง่ที่ทำให้ทุกคนมีความสุข ควรใช้อย่างถูกต้อง โดยแอปฯ บางแอปฯ เช่น ติ๊กต๊อกก็สามารถสร้างสรรค์สิ่งที่มีประโยชน์และให้ความรู้อยางมาก จึงควรใช้แอปฯอย่างสร้างสรรค์