วันนี้ (17 ส.ค.2565) ศาลปกครองสูงสุด นัดฟังคำสั่งคดีที่ชาวบ้านในพื้นที่ 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง 37 คน ยื่นฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กระทรวงพลังงาน และคณะรัฐมนตรี ว่า ร่วมกันดำเนินการโครงการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรีไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขาดการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม โดยขอให้ศาลพิพากษายกเลิกโครงการสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุด เห็นด้วยกับคำสั่งของศาลปกครองกลาง พร้อมระบุว่า คดีนี้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการจัดซื้อไฟฟ้าจากโครงการไซยะบุรี ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ
ส่วนประเด็นการทำประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพและสังคม ศาลวินิจฉัย ว่า ช่วงทำสัญญากฎหมายไม่ได้กำหนดให้โครงการลักษณะนี้ ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังนั้น กฟผ. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กระทรวงพลังงาน และคณะรัฐมนตรี จึงไม่มีหน้าที่ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงมีคำสั่งยกฟ้อง
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 เม.ย.2557 ศาลปกครองกลาง ตัดสินว่า ผู้ฟ้องทั้ง 37 คน ไม่มีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับสัญญาซื้อขาย และมีคำสั่งไม่ประทับรับฟ้อง ชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวจึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
สำหรับเขื่อนไซยะบุรี ตั้งอยู่ในประเทศลาว ห่างจากประเทศไทยประมาณ 200 กิโลเมตร เป็น 1 ใน 23 เขื่อนตามแผนก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง เริ่มผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เมื่อปี 2562 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทำสัญญารับซื้อไฟฟ้า 1,220 เมกะวัตต์ จากเขื่อนไซยะบุรี คิดเป็นร้อยละ 95 ของกำลังการผลิตเป็นระยะเวลา 29 ปี