วันนี้ (18 ส.ค.2565) ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ จากสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รับจ้างสาธารณะ, สมาคมผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย (สจท.), ชมรมพิทักษ์สิทธิจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะแห่งประเทศไทย และชมรมผู้ขับขี่จักรยานยนต์สาธารณะแห่งกรุงเทพฯ เดินทางมาที่กระทรวงคมนาคม เพื่อยื่นหนังสือถึงนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พร้อมชูป้ายแสดงข้อความเรียกร้องให้กระทรวงเร่งแก้ไขปัญหารถจักรยานยนต์ป้ายดำ
นายสันติ ปฏิภาณรัตน์ นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รับจ้างสาธารณะ กล่าวว่า ต้องการติดตามทวงถามความคืบหน้าในเรื่องที่ร้องเรียนไป เช่น การบังคับใช้กฎหมายกับบริษัทที่สนับสนุนให้สมาชิกนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) มาให้บริการรับส่งผู้โดยสารผ่านแอปพลิเคชันผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมให้ตัวแทนผู้ขับขี่ จำนวน 10 คน เข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยมีนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษา รมว.คมนาคม เป็นประธาน และ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เข้าร่วมประชุม
นายสันติ เปิดเผยว่า ต้องการติดตาม ทวงถามเรื่องที่ร้องเรียนไป 7 ข้อ ดังนี้
1. หลังจากทาง ขบ.ได้ออกประกาศให้ผู้ขับแกร็บไบค์ หรือ GrabBike (win) ของบริษัท แกร็บ (Grab) หยุดดำเนินการไปเมื่อ วันที่ 15 ก.ค.2565 จะดำเนินการอย่างไรกับบริษัทแกร็บที่ยังนำรถผิดกฎหมายมาให้บริการ
2. กรณีบริษัทต่าง ๆ ที่นำรถผิดกฎหมายมาให้บริการผ่านแอปพลิเคชันจะมีการบังคับกฎหมายอย่างไร
3. ขบ.ได้ดำเนินการแก้ไขกฎหมายกฎระเบียบ เพื่อเอื้อนายทุนจนทำให้ผู้ประกอบการรายเดิมได้รับผลกระทบจากการแก้ไขกฎหมายกฎระเบียบ
4. กรณีที่กลุ่มผู้ขับขี่แกร็บไบค์เคลื่อนที่เร็วเราช่วยกัน ร้องขอให้ชะลอหยุดการให้บริการเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่กลุ่มของวินถูกออกกฎระเบียบกฎหมายเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการใช้เกณฑ์ 2 มาตรฐานในการให้บริการและการขึ้นทะเบียน
5. ขบ.เร่งรัดเรียกประชุมอนุกรรมการประจำ กทม. ทั้ง 4 ฝ่าย เพื่อหารือออกกำหนดหลักเกณฑ์ในการออกหนังสือรับรองขึ้นทะเบียนรถจักรยานยนต์ ให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน เมื่อวันที่ 4 ส.ค.2565 แต่ไม่มีตัวแทนวินได้เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้
6.ทางสมาคมฯ ได้ร้องเรียนเกี่ยวกับวินเถื่อนต่าง ๆ ที่จอดให้บริการ แต่ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด รวมทั้งการนำรถป้ายขาวมาวิ่งให้บริการตลอดจนมีการข่มขู่สมาชิกวินไม่ให้วิ่งบริการ
และ 7. กรณีที่ ขบ.ให้ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ถูกกฎหมายมารายงานตัวตามเวลาที่กำหนด หากไม่ดำเนินการจะถูกตัดสิทธิ์ในทางปฏิบัตินั้น ทางสมาคมฯ อยากให้ ขบ.เปิดโอกาสการรายงานตัวผ่านช่องทางอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้ได้รับความสะดวกต่อการใช้บริการ ซึ่งขณะนี้มีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ ครอบคลุม 50 เขต จำนวน 120,000 คัน ได้รับความเดือดร้อน
ด้านอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า มารับฟังปัญหาของผู้ขับรถจักรยานยนต์ และทำความเข้าใจว่า ปัญหานำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล (รถป้ายดำ) มาให้บริการนั้น ขบ.อยู่ระหว่างการดำเนินการนำรถป้ายดำให้บริการผ่านแอปฯ ถูกกฎหมาย เพื่อเพิ่มความสะดวกและทางเลือกให้ผู้โดยสารมากขึ้น
ขณะเดียวกันหากมีการรับรองแอปฯ ที่ให้บริการรถจักรยานยนต์ ถูกกฎหมายแล้ว ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ในระบบสามารถจะให้บริการทั้ง 2 ระบบ คือ ให้บริการในพื้นที่ตั้งวินของตนเอง และ ให้บริการผ่านแอปฯ ได้ เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้
ขณะที่รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล ที่ให้บริการผ่านแอปฯ นั้นจะสามารถให้บริการผ่านแอปฯ ได้อย่างเดียว ไม่สามารถนำมาให้บริการในพื้นที่ตั้งวินจักรยานยนต์ได้ เพื่อป้องกันปัญหาการแย่งผู้โดยสาร