ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ใจสู้ "ปู่ลายแทง" เสือโคร่งชรา ป่วยติดเตียง 5 เดือน

สิ่งแวดล้อม
20 ส.ค. 65
08:02
4,468
Logo Thai PBS
ใจสู้ "ปู่ลายแทง" เสือโคร่งชรา ป่วยติดเตียง 5 เดือน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เปิดภารกิจดูแลบั้นปลายชีวิต "ปู่ลายแทง" เสือโคร่งชราแห่งบึงฉวาก หลังเป็นโรคไตเรื้อรัง ป่วยติดเตียงนาน 5 เดือน ใจยังสู้ หลังฝังเข็มพบสัญญาณบวก ขามีแรงขึ้น แต่ต้องดูแล 24 ชั่วโมง พลิกตัว อาบน้ำ ป้อนข้าว ป้อนน้ำ เหมือนคนแก่ เพื่อป้องกันแผลกดทับ

กว่า 5 เดือนแล้วที่ “ปู่ลายแทง” เสือชราวัย 19 ปี ของสวนสัตว์บึงฉวาก จ.สุพรรณบุรี ล้มป่วยติดเตียง อยู่ในกรงเลี้ยง ที่ถูกแปลงสภาพเป็นโรงพยาบาลสนามขนาดเล็ก มีสายน้ำเกลือ ระโยงระยาง กลิ่นยาและอุปกรณ์ช่วยชีวิตสัตว์ป่าพร้อม 24 ชั่วโมง

ภายในมีทีมสัตวแพทย์ พี่เลี้ยง เจ้าหน้าที่ และอาสามัคร 7 คน กำลังสาละวนอยู่รอบๆ ตัวปู่ลายแทง บ้างก็พูดปลอบประโลม เรียกชื่อ ให้ปู่คลายความกังวลใจ หลังกลิ่นของผู้มาเยือน หน้าแปลกแอบเข้าไปถึงถิ่น

ปู่ลายแทง เป็นอะไร เดี่ยวพลิกตัวให้นะ  

 

เสือโคร่งลายพาดกลอน ที่มีน้ำหนักตัวเกือบ 100 กิโลกรัม แม้จะดูซูบผอม แต่ความยาวเกือบ 2 เมตร และเขี้ยวยาว ก็เล่นเอาผู้มาเยือนกล้าๆ กลัวๆ

จนมีคำยืนยันจากเสียงของ “หมอปาล์มมี่” สัตวแพทยณฐนน ปานเพ็ชร สัตวแพทย์กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และทีมที่ดูแลบอกว่า ปู่ขยับตัวไม่ได้

“ปู่ลายแทง” คือชื่อของอดีตเสือหนุ่ม ที่ถูกเลี้ยงมาตั้งแต่เด็ก ในสวนสัตว์บึงฉวาก อายุตอนนี้คือ 19 ปีเทียบกับคนก็ปาเข้าไปเกือบ 90 ปี ปู่ผงกหัวมองคนแปลกหน้า พร้อมกับส่งเสียงครางเหมือนบ่นรำคาญเบาๆ

ป่วยโรคไตเรื้อรังนอนติดเตียงกว่า 5 เดือน

สัตวแพทย์หญิงณฐนน บอกว่า ปู่ลายแทง เป็น 1 ในเสือโคร่ง 50 ตัวที่เกิดและเติบโตในบึงฉวาก เมื่ออายุมากขึ้น ปู่เริ่มป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง จนเมื่อ 5 เดือนก่อนปู่อาการหนัก ต้องนอนนิ่งๆ เหมือนผู้ป่วยติดเตียง

การดูแลต้องให้อาหารพิเศษสำหรับเสือที่ป่วยเป็นโรคไต มีทั้งเนื้อหมูบดวันละ 3-4 กก. ต่อวัน และให้น้ำเกลือเข้าใต้ผิวหนังวันละ 2-4 ขวด โดยสัตวแพทย์ จะประเมินว่าจะให้กี่ขวด ปริมาณเท่าไหร่

ปู่ต้องฉีดยาโรคไต บำรุงตับ เจาะเช็กค่าเลือดทุก 7 วัน ให้น้ำเกลือใต้ผิวหนัง ตรวจสุขภาพ ทุกวัน การกิน การขับถ่าย จะมีการผสมวิตามินให้กิน เจ้าหน้าที่จะคอยป้อนอาหารแบบใจเย็นๆ 

ปู่ชอบโวยวาย-อาบน้ำ-ยังใจสู้

หมอปาล์มมี่ บอกอีกว่า การดูแลปู่ลายแทง ก็เหมือนการผู้สูงอายุติดเตียง และมีแพทย์ทางเลือกฝังเข็ม และกายภาพบำบัด เพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อเส้นประสาท ทำให้จุดหมุน ช่วงขาขยับได้ แต่ยังพลิกตัวเองไม่ได้ ซึ่งปู่เป็นเสือใจนักสู้ บางครั้งปู่ลายแทง จะแกล้งสะบัดหางใส่เจ้าหน้าที่

พฤติกรรมของปู่ลายแทง อาจจะมีโวยวาย เพราะต้องนอนอยู่กับที่ เจ้าหน้าที่คอยพลิกตัวทุก 3-4 ชั่วโมง ปู่โวยวาย เพราะเมื่อยตัว ปวดเนื้อปวดตัว แต่ถ้าปู่หิวจะร้องเสียงดังจนถึงอาคารพยาบาล ต้องเข้าไปดู ปู่ลายแทงชอบเช็ดตัว และอาบน้ำแล้วจะรู้สึกสบายตัว แล้วจะนิ่ง

 

พี่เลี้ยงผูกพันดูแลไม่ห่าง

แต่ละวันจะมีทีมเจ้าหน้าที่ สัตวแพทย์หลายคน คือ สพ.ญ.กนกวรรณ ตรุยานนท์ ทสพ.ญ.ธชพรรณ ลีลาพตะ และสพ.ญ.กัญญ์ศิริ ฟักทอง นายสัตวแพทย์ประจำกลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า รวมทั้งนายวสันต์ สุธีกุล พี่เลี้ยงปู่ลายแทงที่ดูแลกันมากว่า 10 ปีตั้งแต่ปู่ลายแทงยังเป็นหนุ่ม มาคอยดูแลปู่ลายแทงตลอดทั้งวัน ทั้งคืน โดยสลับสับเปลี่ยนกันมานานกว่า 5 เดือนแล้ว 

วสันต์ ย้อนความวัยหนุ่มของ "ปู่ลายแทง"ว่า เป็นเสือร่าเริง เขาดูแลมาตั้งแต่ตอนเป็นหนุ่ม เรียกชื่อแล้ว ปู่จะมาหาทันที เป็นเสือขี้เล่น เคยโดนงับเบาๆ แต่ไม่โกรธเพราะถือว่าตัวเองประมาทเอง

จนวันที่ปู่ล้มป่วย และลุกไม่ได้ ก็คอยเฝ้าไม่ห่างตั้งแต่ 6 โมงเช้าจนถึง 6 โมงเย็น เพราะต้องคอยพลิกตัวทุกๆ 2-3 ชั่วโมงไม่ให้ปู่เป็นแผลกดทับ
ดูแลปู่ทุกวัน ผูกพันมาเป็น 10 ปี อยากให้ปู่ลายแทง หายป่วย บางวันอาการก็ทรุดบ้าง ใจไม่ดี เพราะปู่นอนติดเตียงแบบนี้มากว่า 5 เดือน มีหน้าที่คอยป้อนอาหารใช้เวลาเป็นชั่วโมง ปู่จะครางๆ เบาๆ ชอบให้เรียกชื่อ ชอบให้ลูบตัว เหมือนกับแมว สงสารแต่ไม่ร้องไห้ 

วสันต์ บอกว่า หลังจากปู่ล้มป่วย มีการนำแพทย์ทางเลือก มาทดลองฝังเข็มให้ปู่ลายแทงหลายครั้ง พบว่าปู่ลายแทง ยังสามารถใช้ขา และสะบัดหางได้ บางทีก็เผลอโดนคนที่มารายล้อม  แม้จะผ่านมา 5 เดือน แต่ปู่ยังไม่ค่อยมีแผลกดทับ เพราะจะมีทีมสัตวแพทย์ และอาสาสมัครมาคอยพลิกตัว และสลับข้าง ให้ปู่นอนสบายๆ ทุกๆ 2-3 ชั่วโมง  

 

อาการปู่ลายแทง ทรงๆ ทรุดๆ บ้าง แต่สัตวแพทย์ อาสาสมัคร และตัวปู่ลายแทงเองยังใจสู้มา 5 เดือนก็ถือว่า โอเค เพราะปู่เป็นเสือตัวแรกๆ ที่ป่วยติดเตียง และรักษากันอย่างเต็มที่ 

ปัจจุบัน บึงฉวากมีเสือโคร่ง 50 ตัว ส่วนใหญ่เริ่มเข้าสู่วัยชรา สัตวแพทย์ ยอมรับว่า ต้องเตรียมแผนรองรับ เพราะอาจมีบั้นปลายชีวิตเหมือน “ปู่ลายแทง”

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง