ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ลับฝีมือกับสายสืบตัวจริง ในภารกิจ "เขาวานให้หนูเป็นสายลับ"

สังคม
20 ส.ค. 65
12:30
855
Logo Thai PBS
ลับฝีมือกับสายสืบตัวจริง ในภารกิจ "เขาวานให้หนูเป็นสายลับ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ภารกิจ : เขาวานให้หนูเป็นสายลับ กับครั้งแรกในประเทศไทยที่เปิดโอกาสให้นักเรียนหญิงมาร่วมแก้ปัญหากับนักสืบตัวจริง และฝึกทักษะรวบรวมหลักฐานกับโจทย์อาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย

ภารกิจนี้เกิดขึ้นจากเพจ Girls in Tech Thailand ที่ประกาศรับสมัครตัวแทนนักเรียนหญิงจำนวน 50 คน เข้าร่วมโครงการ "Girls In Tech 1st DETECTHON" หรือชื่อภาษาไทยว่า ภารกิจ : เขาวานให้หนูเป็นสายลับ เพื่อเข้ารับการอบรมและร่วมการแข่งขันค้นหานักสืบรุ่นใหม่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย กับ 3 ประเด็นสังคม

  1. การแสวงหาประโชยน์ทางเพศจากเด็กในโลกออนไลน์ (Online Child Sexual Exploitation and Abuse, OCSEA)
  2. การเผยแพร่ข่าวลวง (Disinformation Campaign)
  3. การฉ้อโกงออนไลน์ (Online Scams, Fraud)

ไทยพีบีเอสออนไลน์ไม่รอช้าชวนทุกคนมาเจาะข้อมูล ไขหลักสูตรนักสืบรุ่นใหม่กับ ร.ต.อ.ณกรณ์ พรหมมะ หนึ่งในทีมงานและผู้ออกแบบกิจกรรม Girls In Tech 1st DETECTHON ในครั้งนี้

ร.ต.อ.ณกรณ์ ระบุว่า สสส., สถาบันนิติวัชร์, Cofact และเครือข่าย ต่างมีความกังวลเกี่ยวกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นทางออนไลน์กับผู้หญิง โดยเฉพาะเยาวชนที่ถูกหลอกลวงจนนำไปสู่ความสูญเสีย จึงได้มีการหารือเพื่อสร้างเกราะคุ้มกันให้น้อง ๆ พร้อมทั้งสร้างอาวุธให้ปกป้องตัวเองและต่อสู้เพื่อคนอื่นด้วย

ขณะที่เด็กผู้หญิงบางคนถูกหลอกให้เผยแพร่ภาพเปลือยของตัวเองบนสื่อสังคมออนไลน์ อาจไม่ทราบว่าผลที่ตามมามีมากมายขนาดไหน หรือแม้แต่การฉ้อโกงทางออนไลน์ก็พบผู้เสียหายเป็นเด็กผู้หญิงจำนวนมาก ภัยคุกคามเหล่านี้อยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด หลักสูตรนี้จึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อหยุดยั้งเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับกิจกรรมที่จะจัดขึ้นวันที่ 27-28 ส.ค.นี้ ร.ต.อ.ณกรณ์ ร่วมกับทีมงานออกแบบกิจกรรมอัดแน่นไปด้วยกลยุทธ์จากยอดฝีมือในแต่ละสาขา เริ่มกิจกรรมแรกกับการรับฟังคดีจริงจากผู้เสียหายตั้งแต่วิธีการที่มิจฉาชีพเข้าหา ความรู้สึกหลังจากเกิดอาชญากรรม การตัดสินใจดำเนินคดี ไปจนถึงช่วงเวลาที่ฟื้นฟูจิตใจกลับมาได้

ต่อกันด้วยกิจกรรมที่ได้ตัวแทนตำรวจ สายสืบตัวจริงมาให้ความรู้ ตั้งแต่ข้อมูลพื้นฐานเรื่องเครื่องมือในการเก็บข้อมูล หลักฐาน ไปจนถึงขั้นตอนและวิธีการที่นำไปสู่การสืบค้นข้อมูล และดำเนินคดีตามกฎหมาย

สุดท้ายคือเทคนิคการเล่าเรื่อง ที่ตัวแทนนักเล่าเรื่องจากบริษัทชั้นนำจะมาแนะวิธีการเรียบเรียงข้อมูล การจัดทำไทม์ไลน์ คัดเลือกข้อมูลสำคัญ เพื่อนำเสนอคดีต่อสาธารณชนแบบที่ตำรวจทำกันมาให้ได้เห็นในคดีใหญ่ ๆ

เรียกว่าเราเอาสายสืบตัวจริง และคนทำงานจริง มาเป็นโค้ช มาบอก มาแนะนำประสบการณ์ เพื่อเป็นไกด์ไลน์ให้น้อง ๆ ได้เรียนรู้และเข้าใจ มันจะดีมากกว่าการให้ตัวแทนมายืนพูดให้ฟังเฉย ๆ 

ทั้งนี้ หลังจากเปิดรับสมัครไปเพียง 1 วัน มีผู้สนใจสมัครเข้ามาถึง 120 คน แต่ทางผู้จัดรับได้เพียง 50 คนเท่านั้น จึงต้องปิดรับสมัครแล้ว และหวังว่านักเรียนทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 2 วันจะได้นำความรู้และเทคนิคต่าง ๆ ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายเพื่อหยุดยั้งอาชญากรรมทางเทคโนโลยีต่อไปด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง