วันนี้ (24 ส.ค.2565) กรมการแพทย์ เปิดตัวนวัตกรรมตรวจคัดกรองโควิด-19 จากลมหายใจ (Volatile Exhale Breath Analysis: VEBA) โดย รศ.(พิเศษ) นพ.สถิตย์ นิรมิตรมหาปัญญา โรงพยาบาลราชวิถี และ ดร.เธียร์สิทธิ์ นาสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รศ.(พิเศษ) นพ.สถิตย์ ระบุว่า การจะตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR หรือ ATK หากทำได้ไม่ดีอาจเกิดการบาดเจ็บได้ แม้ในผู้ใหญ่อาจไม่มีปัญหามาก แต่ในกลุ่มเด็กเล็กอาจจะมีปัญหา จึงคิดว่าหากมีวิธีอื่นที่ทำให้ทุกคนไม่ต้องเจ็บตัวมาทดแทน และเป็นวิธีที่ใช้เวลาทดสอบใกล้เคียงกันน่าจะช่วยได้มาก
ขณะเดียวกันเมื่อตรวจด้วยวิธีที่ทำให้รู้สึกเจ็บ จึงอาจทำให้ประชาชนเลือกตรวจหาเชื้อสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง แต่หากมีวิธีที่ตรวจได้ง่ายกว่านั้น ก็จะช่วยให้ประชาชนตรวจได้บ่อยขึ้น เมื่อเพิ่มความถี่ในการตรวจก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็วกว่า
ขณะที่ ดร.เธียร์สิทธิ์ ระบุว่า นวัตกรรมนี้ได้นำก๊าซเซนเซอร์พัฒนาเป็นเครื่องมือคัดกรองเชื้อโควิด-19 โดยเปรียบเหมือนจมูกสุนัข แต่เป็นจมูกที่ไม่ได้เกิดจากสิ่งมีชีวิต เรียกว่า Electronic Nose โดยสร้างให้จมูกนี้จดจำกลิ่นของผู้ป่วยติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ เมื่อทดลองคัดกรองแล้ว พบว่า ก๊าซเซนเซอร์ที่พัฒนาขึ้น สามารถคัดแยกผู้ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อได้โดยมีความแม่นยำมากกว่า 90% และในอนาคตหากมีกลุ่มตัวอย่างที่มากกว่านี้จะช่วยพัฒนาความแม่นยำและความไวในการตรวจจับเร็วขึ้น
ทั้งนี้ การทำงานของเครื่องจะเป็นการวิเคราะห์ลมหายใจเพื่อจำแนกกลิ่นที่แตกต่างกันของคนติดเชื้อกับคนไม่ติดเชื้อ พบว่า มีความไว (Sensitivity) และความจำเพาะ (Specificity) สูง สามารถรู้ผลตรวจได้ภายใน 5 นาที ช่วยคัดแยกผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว เข้าสู่กระบวนการรักษาได้ทันท่วงที และลดโอกาสในการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในวงกว้างได้ มีค่าใช้จ่ายในการตรวจไม่เกิน 10 บาทต่อคน