วันนี้ (25 ส.ค.2565) โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศยกหนี้การศึกษา สูงสุด 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่ชาวอเมริกัน ขณะที่กลุ่มลูกหนี้ซึ่งรับเงินช่วยเหลือจากกองทุน Pell Grants ซึ่งเป็นกองทุนให้เปล่าสำหรับผู้ที่ขาดแคลนอย่างหนัก จะได้รับการยกเว้นหนี้มากถึง 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ไบเดน ระบุว่า นโยบายหนี้จะช่วยให้ชาวอเมริกันยกภูเขาหนี้ออกจากอกได้ ทำให้ชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงานชาวอเมริกันหายใจหายคอได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังประกาศขยายระยะเวลาการระงับการชำระดอกเบี้ยและเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ผู้กู้ยืมไม่ต้องชำระคืนหนี้ดังกล่าวมาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2020 แล้ว และจะหมดอายุลงในปลายเดือน ส.ค.นี้ โดยขยายเวลาครั้งสุดท้ายไปจนถึงสิ้นปีนี้ด้วย
ข้อมูลจากระบบสินเชื่อเพื่อการศึกษาของสหรัฐฯ ชี้ว่ายอดเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเพิ่มขึ้นค่อนข้างก้าวกระโดด ปี 2007 มียอดหนี้รวม 516,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาอีก 7 ปีในปี 2014 เพิ่มเป็น 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และล่าสุดปีนี้ 2022 เพิ่มเป็น 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ยอดหนี้รวมกว่า 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 51.2 ล้านล้านบาท มีการประเมินไว้ว่ามีลูกหนี้รวมประมาณ 43 ล้านคน ในจำนวนนี้ประมาณ 1 ใน 5 มียอดหนี้ไม่ถึง 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ
มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย คำนวณไว้ว่า การยกหนี้ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ให้ผู้กู้แต่ละคนที่รายได้ต่อปีไม่ถึง 125,000 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับรัฐบาลกลางจะสูญเงินประมาณ 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
และการศึกษาโดยนักเศรษฐศาสตร์จากระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ พบว่า จะมีคนได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ราว 11.8 ล้านคน หรือราว 31% ของผู้ที่มีหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาในสหรัฐฯ ส่วนทำเนียบขาวประเมินว่ามาตรการนี้จะครอบคลุมผู้กู้ราว 20 ล้านคน
นอกจากนี้ ไบเดน ยังระบุว่า 1 ใน 3 ของผู้กู้ มีหนี้การศึกษา แต่ไม่มีวุฒิการศึกษา เล็งเห็นว่าภาระหนี้กับสภาวการณ์ปัจจุบัน ทำให้ต่อให้เรียนจบมีปริญญาก็อาจจะไม่ได้มีโอกาสใช้ชีวิตอย่างชนชั้นกลางได้เหมือนในสมัยก่อน คนหรือครอบครัวที่มีรายได้สูงจะไม่ได้ประโยชน์จากนโยบายนี้
นโยบายนี้เผชิญเสียงสนับสนุนและวิจารณ์พอควร ฝั่งคนวิจารณ์ รวมถึงรีพับลิกัน มองว่า การยกหนี้จะช่วยส่งให้ปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงขึ้น เพราะเท่ากับทำให้คนจำนวนมากมีเงินไว้ใช้จ่ายมากขึ้น มูลค่ารวมของเงินที่คนไม่ต้องใช้หนี้แต่เอามาใช้จ่ายได้มากเป็น ขณะเดียวกัน มองไปที่คนที่จ่ายหนี้การศึกษาจนหมดแล้ว ก็ไม่ค่อยยุติธรรมกับพวกเขาเท่าไร
อีกด้านหนึ่งอาจมองได้ว่า มาตรการยกเลิกหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเอาใจคนที่มีแนวคิดเสรีนิยม และอาจเป็นประเด็นการพิจารณาที่สำคัญในการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ในปีนี้ โดยเฉพาะกับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่เป็นคนหนุ่มสาวที่มีการศึกษาสูง ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มีแนวโน้มจะสนับสนุนพรรคเดโมแครต
ฝ่ายสนับสนุน มองว่า นโยบายนี้ช่วยลดช่องว่างทางรายได้ และแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับเรื่องเชื้อชาติด้วยซ้ำ
ข้อมูลจากการศึกษาโดย Brookings Institution ระบุว่า นักศึกษาผิวดำมีแนวโน้มกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาจากภาครัฐเป็นจำนวนเงินที่มากกว่าชาวอเมริกันเชื้อสายอื่น และโดยเฉลี่ยแล้ว หลังเรียนจบปริญญาตรี 4 ปี ผู้กู้ที่เป็นชาวอเมริกันผิวดำมักมีหนี้มากกว่าอเมริกันผิวขาวร่วม 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลของระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขานิวยอร์ก ชี้ว่า หนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเป็นสิ่งที่ชาวอเมริกันในช่วงอายุ 25-34 ปีมี โดย 67% ของผู้กู้ยืมเพื่อการศึกษามีอายุต่ำกว่า 40 ปีกันทั้งสิ้น
ในสหรัฐฯ มีโครงการสนับสนุนเงินทุนทางการศึกษามีหลายโครงการ มีการให้สินเชื่อเพื่อการศึกษาของภาครัฐ โครงการเรียนและทำงานไปด้วย เพื่อสร้างรายได้