ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รอยสักอิเล็กทรอนิกส์ ตัวช่วยตรวจสุขภาพแบบใหม่จากเกาหลีใต้

Logo Thai PBS
รอยสักอิเล็กทรอนิกส์ ตัวช่วยตรวจสุขภาพแบบใหม่จากเกาหลีใต้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิจัยเกาหลีใต้ พัฒนา “รอยสักอิเล็กทรอนิกส์” ช่วยตรวจสุขภาพ และสามารถแจ้งเตือนข้อมูลด้านสุขภาพให้แก่ผู้ใช้งานได้อัตโนมัติ

เทรนด์การดูแลสุขภาพได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เห็นได้จากการที่ผู้คนหันมาดูแลตัวเองกันมากขึ้น ส่งผลให้เกิดเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพขึ้นใหม่ทุกวัน ซึ่งมักจะมาในรูปแบบอุปกรณ์ที่ติดตามร่างกาย ที่อาจสร้างความรำคาญหรือไม่สบายตัวสำหรับบางคน นักวิจัยเกาหลีใต้จึงได้พัฒนารอยสักอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งจะช่วยลดความรำคาญให้กับผู้ใช้งานได้ เพราะใช้เพียงวิธีการวาดหมึกลงบนผิวหนัง

นักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงของเกาหลี (Korea Advanced Institute of Science and Technology) หรือ KAIST เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ตั้งอยู่ที่เมืองแทจอน ประเทศเกาหลีใต้ ประสบความสำเร็จในการคิดค้นรอยสักอิเล็กทรอนิกส์ (E-Tattoo) เพื่อใช้ในการตรวจสอบสภาวะร่างกายภายใน และรายงานผลการตรวจสุขภาพ

รอยสักอิเล็กทรอนิกส์ มีลักษณะเป็นหมึกสีเทา สร้างขึ้นจากโลหะเหลว และอนุภาคท่อนาโนคาร์บอน (Carbon Nanotubes) วิธีการใช้งานก็ทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่ทาหมึกลงบนร่างกาย หรือจะวาดเป็นลวดลายเหมือนเป็นรอยสักก็สามารถทำได้ จากนั้นใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีเพื่อรอให้หมึกแห้งติดกับผิวหนังก็พร้อมสำหรับการใช้งานแล้ว

เมื่อน้ำหมึกแห้งพร้อมใช้งานแล้ว นักวิจัยหรือแพทย์ก็สามารถใช้สายสัญญาณเชื่อมรอยสักอิเล็กทรอนิกส์กับเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) หรือไบโอเซนเซอร์อื่น ๆ เพื่อส่งสัญญาณจากรอยสักที่วาดไว้เข้าไปยังเครื่องวัด ซึ่งจะรายงานข้อมูลอัตราการเต้นของหัวใจ สัญญาณชีพจร ปริมาณน้ำตาลกลูโคส ไบโอมาร์คเกอร์ในเหงื่อ และอื่น ๆ ได้ ซึ่งในอนาคตนักวิจัยมุ่งหวังที่จะต่อยอดด้วยการเชื่อมต่อชิปไร้สายเข้ากับรอยสักอิเล็กทรอนิกส์นี้ เพื่อให้สามารถสื่อสารหรือส่งสัญญาณระหว่างร่างกายกับอุปกรณ์ภายนอกได้แบบเรียลไทม์

นักวิจัยยืนยันว่าการนำรอยสักอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ จะไม่ทำให้เกิดความรำคาญหรือไม่สบายตัวเหมือนการใช้แผ่นเซนเซอร์ เพราะน้ำหมึกมีความยืดหยุ่น ติดกับผิวได้ดี ไม่หลุดลอกง่าย โดนน้ำได้ และทนทานต่อการถู แต่ลบออกได้โดยการล้างด้วยน้ำสบู่

ที่มาข้อมูลและภาพ: reuters, disruptive, euronews
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง