วันนี้ (1 ก.ย.2565) พญ.พรนิภา ศรีประเสริฐ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาสมอง การเรียนรู้ และพัฒนาการเด็ก ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ ในประเด็นทักษะที่ลูกต้องมี เอาตัวรอดเมื่อมีภัยเข้ามาใกล้ตัว
ก่อนพาลูกเข้าโรงเรียนนอกจากสอนเรื่องการช่วยเหลือตัวเอง กินข้าว เข้าห้องน้ำเองแล้ว ปัจจุบันอาจต้องสอนทักษะเอาตัวรอดด้วย นั้นเพราะอันตรายใกล้ตัวลูกกว่าที่คิด ฉะนั้นพ่อแม่จำเป็นต้องเสริมเกราะป้องกันภัยให้ลูก
เริ่มจาก ทักษะแรกในการเอาตัวรอด "บนรถโรงเรียน" หากครูลืม เหลือหนูไว้คนเดียว สอนลูกให้ปลดล็อก เปิดหน้าต่างประตูเป็น หากเป็นเด็กเล็ก เปิดประตูรถตู้ไม่ได้ ให้ปีนมาข้างหน้า เปิดประตูหน้าง่ายกว่า และหากโตพอ อย่าลืมสอนว่าห้ามทำขณะรถวิ่ง สอนให้หัดสังเกตรูปแตรรถ และกดแตรดัง ๆ ค้างไว้เลย เพราะพวงมาลัยแต่ละอันตำแหน่งแตรไม่เหมือนกัน
ต้องให้เด็กลองกดเองด้วย ไม่ใช่แค่บอกปากเปล่า เพราะเด็กส่วนใหญ่มักกดแตรไม่ดัง เพราะมือน้อย ๆ ยังแรงไม่พอ นอกจากนี้ อย่าลืมสอนให้ใช้ศอก สองมือ หรือหัดกดลงน้ำหนักด้วย
พญ.พรนิภา ยังกล่าวถึงกรณีเหตุการณ์ล่าสุด นักเรียน ชั้น ป.2 อายุ 7 ขวบ นอนเสียชีวิตภายในรถตู้ ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.พานทอง จ.ชลบุรี เพื่อเป็นการป้องกันการลืมเด็กในรถโดยเฉพาะโรงเรียน จึงอยากให้ครู สร้างระบบ นับ ตรวจตรา การขานชื่อ ให้เป็นมาตรฐาน ไม่อยากให้มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก
ยกตัวอย่างระบบสาธารณสุข การผ่าตัด เมื่อก่อนเคยมีกรณีของการลืมผ้าก๊อซ อุปกรณ์การแพทย์ไว้ในท้องคนไข้ เป็นที่มาของปัจจุบันจะต้องมีระบบขาน จด มีคนที่ทำหน้าที่นับจำนวนก๊อซที่แกะใช้ และนับอีกครั้งหลังจบการผ่าตัดก่อนปิดช่องท้อง ถ้าก๊อซไม่ครบก็ต้องหาให้ครบถึงจะเย็บปิดช่องท้องได้ ปัจจุบันจึงไม่ค่อยเจอกรณีลืมผ้าก๊อตหรืออุปกรณ์การแพทย์ไว้ในท้องของคนไข้เท่าสมัยก่อน
เชื่อว่าทุกอย่างสามารถป้องกันได้หากมีระบบที่ดี และทุกคนปฏิบัติตาม การป้องกันไว้ก่อนจึงสำคัญ
พญ.พรนิภา กล่าวว่า อีกเรื่องคือ ทักษะการเอาตัวรอดจาก "คนแปลกหน้า" แม้สมัยนี้จะไม่ค่อยมีกรณีรถตู้อุ้มเด็กแล้ว แต่ข้อมูลจากมูลนิธิกระจกเงา พบว่า เด็กที่ถูกลักพาตัว ผู้ก่อเหตุมักใช้การ "ตีสนิท" แล้วหลอกพาไปเนียน ๆ กับอีกกรณีคือ มาจูงมือหายไปกลางห้างเลย ตรงนี้สอนลูกว่า ห้ามไปกับคนแปลกหน้า และถ้ามีคนแปลกหน้ามาดึงมือไปให้ร้องกรี๊ด ดัง ๆ
อย่าคิดว่าเด็กยังเล็ก สอนไปไม่รู้เรื่อง ไม่จริง ค่อย ๆ สอน สอนซ้ำ ๆ ลูกจะเข้าใจ และเอาตัวรอดได้
อีกเรื่องคือ สอนเรื่องการ "จมน้ำ" พญ.พรนิภา กล่าวว่า หากเพื่อนจมน้ำ ห้ามเข้าไปช่วยเพราะหากไม่มีอุปกรณ์ และเด็กกระโดดลงไปหาเพื่อนอาจจะเกิดเหตุไม่คาดคิดได้ สิ่งที่ต้องทำคือให้รีบวิ่งไปบอกครู และห้ามลงน้ำคนเดียวโดยไม่มีผู้ใหญ่อยู่ด้วย รวมถึงวิธีว่ายเข้าหาฝั่ง หรือการลอยตัว ทักษะเอาชีวิตรอดในน้ำเบื้องต้น หากคนที่ไม่มีทักษะหรือว่ายน้ำไม่แข็ง ก็ต้องใช้การ “ตะโกน โยน ยืน” ยืนอุปกรณ์ให้ลพยายามนำเขาเข้าฝั่งด้วยอุปกรณ์นั้น แทนที่จะนำตัวเองลงไป
พญ.พรนิภา กล่าวทิ้งท้าย ไม่ว่าอุบัติเหตุใดที่เกิดขึ้นกับเด็ก การมาแก้ไขที่ปลายเหตุ ย่อมเกิดการสูญเสียไม่มากก็น้อย ฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือ การป้องกัน ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ