ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

FCI ขึ้นทะเบียน "สุนัขไทยบางแก้ว" เป็นสุนัขโลก

สังคม
3 ก.ย. 65
11:50
2,017
Logo Thai PBS
FCI ขึ้นทะเบียน "สุนัขไทยบางแก้ว" เป็นสุนัขโลก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สมาพันธ์สุนัขโลก (FCI) จดทะเบียน "สุนัขไทยบางแก้ว" เป็นสุนัขโลกแล้ว โดยมีถิ่นกำเนิดที่วัดบางแก้ว ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ถือเป็นสุนัขที่มีสายพันธุ์ดั้งเดิม หน้าคล้ายหมาป่า และนิสัยดุ

วันนี้ (3 ก.ย.2565) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ขณะนี้สมาพันธ์สุนัขโลก (FCI) จดทะเบียน สุนัขไทยบางแก้ว (Thai Bangkaew) เป็นสุนัขโลกแล้ว ต่อจากสุนัขไทยหลังอาน ที่เคยได้รับการบรรจุการขึ้นทะเบียนเป็นสุนัขสายพันธุ์ใหม่ของโลกเมื่อปี 2546

ทั้งนี้การขึ้นทะเบียนสุนัขไทยบางแก้ว โดยจัดอยู่ในกรุ๊ป 5 จาก 10 กรุ๊ป ซึ่งกรุ๊ป 5 แบ่งตามลักษณะของสุนัข และแหล่งกำเนิดของสุนัข คือ Spitz เป็นสุนัขที่มีขนยาว หนา และมักเป็นสีขาว หูตั้ง ปลายหูแหลม หางมักจะโค้งอยู่เหนือหลัง รูปหน้าสุนัขจิ้งจอกหรือคล้ายกับหมาป่า และ Primitive type เป็นสุนัขสายพันธุ์ดั้งเดิมหรือสุนัขโบราณ

สุนัขบางแก้ว ถูกตั้งชื่อตามถิ่นกำเนิด คือ วัดบางแก้ว ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำยม สุนัขไทยพันธุ์นี้มีลักษณะคล้ายสุนัขจิ้งจอกหรือเป็นสุนัขลูกผสมของสุนัขจิ้งจอกคนไทยนิยมเลี้ยงไว้เฝ้าบ้านเนื่องจากสุนัขบางแก้วขึ้นชื่อเรื่องความดุ

ชี้ช่วยรับรองสายพันธุ์มาตรฐาน

ปัจจุบันสุนัขจากประเทศไทยได้รับการรับรองจาก FCI แล้ว 2 สายพันธุ์ คือ ไทยหลังอาน อยู่ในกรุ๊ป 5 ประเภท Primitive type และล่าสุดไทยบางแก้ว อยู่ในกรุ๊ป 5 ประเภท Spitz

สำหรับความสำคัญของการที่ FCI จดทะเบียนสุนัขไทยบางแก้ว เป็นสุนัขโลกนั้น เป็นการรับรองมาตรฐานสายพันธุ์สุนัข เพื่อให้ประเทศสมาชิกใช้ถือปฏิบัติเป็นตามมาตรฐานเดียวกัน เช่น การรับรองมาตรฐานสายพันธุ์สุนัข การรับรองการประกวดของประเทศสมาชิก การรับรองกรรมการผู้ตัดสินของประเทศสมาชิก

ทำให้ผู้ส่งประกวดจะได้รับใบรับรองพันธุ์ประวัติ (Certificate Pedigree) แสดงถึงคุณภาพของลูกสุนัขที่ได้รับการถ่ายทอดพันธุกรรม ลักษณะเด่น ด้อย ทั้งในเชิงกายภาพรูปร่าง หน้าตา ไปจนถึงลักษณะนิสัย ทั้งนี้ ปัจจุบันสมาพันธ์สุนัขโลก (FCI) มีสมาชิกทั้งหมด 98 ประเทศ มีสุนัขที่ได้รับรองมาตรฐานแล้วประมาณ 370 สายพันธุ์

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง