โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั่วประเทศ จำนวน 13.3 ล้านคน โดยทุกคนต้องลงทะเบียนใหม่ เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ พร้อมกับผู้ที่ต้องการเข้าโครงการรายใหม่ ในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565
โดยกระทรวงการคลัง เปิดรับลงทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย. - 19 ต.ค. 2565 ทางเว็บไซต์ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th และเว็บไซต์ welfare.mof.go.th
หรือลงทะเบียนผ่าน 7 หน่วยงาน ได้แก่ สาขาของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงไทย, สำนักงานคลังจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ สังกัดกรมบัญชีกลาง, ที่ว่าการอำเภอทั้ง 878 อำเภอทั่วประเทศ ภายใต้กระทรวงมหาดไทย, สำนักงานเขตกรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต และศาลาว่าการเมืองพัทยา เมืองพัทยา รวมจุดรับลงทะเบียนไม่น้อยกว่า 7,000 จุดทั่วประเทศ
วิธีลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์
- เข้าไปที่เว็บไซต์ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
- จากนั้นเลือกปุ่ม "ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ"
- คลิกคำว่า "เริ่มลงทะเบียน" กรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน และกดปุ่ม "ตรวจสอบข้อมูล"
- กรอกข้อมูลตามบัตรประจำตัวประชาชน ได้แก่ ชื่อ สกุล วันเดือนปีเกิด และเลข laser หลังบัตร
- กรอกข้อมูลผู้ลงทะเบียน ได้แก่ ที่อยู่ วุฒิการศึกษา สถานภาพครอบครัว (หากมีครอบครัว ต้องกรอกข้อมูลสมาชิกในครอบครัว) อาชีพ รายได้ และหนี้สิน
- ตรวจสอบข้อมูลและกดปุ่ม "ยืนยันข้อมูล"
- ผู้ลงทะเบียนที่โสด/ไม่มีครอบครัว กดยอมรับเงื่อนไขและยืนยันการลงทะเบียน เพื่อจบขั้นตอนการลงทะเบียน โดยไม่ต้องไปยื่นเอกสารหรือเดินทางไปหน่วยงานรับลงทะเบียน
- ผู้ลงทะเบียนที่มีครอบครัว มีคู่สมรส (สามีหรือภรรยาที่จดทะเบียนสมรส) และบุตรชอบด้วยกฎหมายที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ เฉพาะที่ยังมีชีวิตอยู่ตามข้อมูลของกรมการปกครอง (แต่ไม่รวมบุตรบุญธรรม) เมื่อกรอกข้อมูลทางเว็บไซต์สำเร็จ จะต้องเลือกหน่วยงานรับลงทะเบียนที่ผู้ลงทะเบียนสะดวก เพื่อไปยื่นเอกสารที่ลงลายมือชื่อครบถ้วน ทั้งผู้ลงทะเบียนและสมาชิกในครอบครัวที่หน่วยงานรับลงทะเบียน ถึงจะถือว่าจบขั้นตอนการลงทะเบียน (หากไม่ได้เดินทางไปยื่นเอกสารที่หน่วยงานรับลงทะเบียน จะถือว่าลงทะเบียนไม่สำเร็จ)
วิธีลงทะเบียนผ่าน 7 หน่วยงาน
ผู้ลงทะเบียนจะต้องกรอกแบบฟอร์มลงทะเบียนให้ครบถ้วน พร้อมทั้งลงลายมือชื่อในเอกสารให้ครบถ้วนทั้งผู้ลงทะเบียนและสมาชิกในครอบครัว เพื่อนำไปยื่น ณ หน่วยงานรับลงทะเบียน
ซึ่งจะต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของผู้ลงทะเบียน รวมถึงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของคู่สมรสและบุตร พร้อมลงลายมือชื่อในกรณีที่คู่สมรสและบุตร ไม่ได้เดินทางมาแสดงตัวที่หน่วยงานรับลงทะเบียน
หากคู่สมรสและบุตรของผู้ลงทะเบียนเดินทางมาแสดงตัว ณ หน่วยงานรับลงทะเบียน พร้อมแสดงบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง ก็ไม่จำเป็นต้องใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของคู่สมรสและบุตรของผู้ลงทะเบียน
ทั้งนี้ แบบฟอร์มการลงทะเบียนสามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ของโครงการฯ หรือติดต่อขอรับได้ที่หน่วยงานรับลงทะเบียนทุกหน่วย
วิธีลงทะเบียนให้ผู้พิการ-ผู้ป่วยติดเตียง-ผู้สูงอายุ
ผู้ลงทะเบียนเป็นผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุ ที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ด้วยตนเอง สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นมาลงทะเบียนแทนได้ ทั้งนี้ หนังสือมอบอำนาจสามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ของโครงการฯ หรือติดต่อขอรับได้ที่หน่วยงานรับลงทะเบียนทุกหน่วย
ทั้งนี้ ผู้ลงทะเบียน สามารถตรวจสอบผลการลงทะเบียนได้ที่ เว็บไซต์ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เลือกปุ่ม "ตรวจสอบสถานะการลงทะเบียน" ได้ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2565 เป็นต้นไป
คุณสมบัติของผู้ลงทะเบียน
มีสัญชาติไทย มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ไม่เป็นบุคคล ดังต่อไปนี้ ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช ผู้ต้องขัง ผู้ถูกกักกัน ผู้ต้องกักขัง บุคคล ที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของหน่วยงานของรัฐ ข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงาน ในหน่วยงานของรัฐ ผู้รับบำเหน็จรายเดือน ผู้รับบำนาญ หรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา
รายได้ของผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี และหากมีครอบครัว รายได้เฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 อาจทำให้ผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการมากขึ้น ซึ่งหากผ่านเกณฑ์คุณสมบัติที่กำหนด รัฐบาลก็พร้อมจ่ายเงินดูแลสวัสดิการ โดยไม่ได้ตีกรอบงบประมาณ จากปัจจุบันภาระรายจ่ายโครงการบัตรสวัสดิการ เฉลี่ยเดือนละ 4,000 ล้านบาท หรือประมาณปีละ 48,000 ล้านบาท
อ่านข่าวอื่น ๆ
เซ่นผับเด็ก! ย้ายด่วน ผกก.สภ.เมืองเชียงราย
"สมคิด" ลาออกสหพัฒน์ฯ แคนดิเดตนายกฯ สร้างอนาคตไทย
คนไทยซื้อ "สลากดิจิทัล" วันเดียว 1 ล้านคน 7.7 ล้านใบ