วันนี้ (5 ก.ย.2565) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ วัย 47 ปี ได้รับเลือกจากสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยม หรือคอนเซอร์เวทีฟ ให้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่
ทรัสส์ ได้รับคะแนนเสียง 81,326 คะแนน หรือคิดเป็น 57.4% เอาชนะ รีชี ซูนัค คู่แข่งเพียงคนเดียวที่ได้คะแนนเสียง 60,399 คะแนน หรือคิดเป็น 42.6% ซึ่งการเลือกหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟครั้งนี้ มีสมาชิกพรรคใช้สิทธิ์ราว 160,000 คน ส่งผลให้ทรัสส์ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรคนใหม่ ต่อจากบอริส จอนห์นสัน
ก่อนหน้านี้ ทรัสส์ ประกาศแผนรับมือราคาพลังงานพุ่งสูง ภายในสัปดาห์แรกหลังจากเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 6 ก.ย.นี้ เนื่องจากการเร่งแก้ปัญหาราคาพลังงาน ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งอังกฤษกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจถดถอยหลังจากอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงถึงร้อยละ 10.1 เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา
ขณะที่ อิสสริยา พรายทองแย้ม บรรณาธิการวางแผนข่าว บีบีซีไทย ประจำกรุงลอนดอน มองโจทย์ท้าทายภายในประเทศของผู้นำอังกฤษคนใหม่ ว่า หลังจากนี้ปัญหาท้าทายที่ทรัสส์จะต้องเข้ามาแก้ไข คือปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง โดยเฉพาะราคาพลังงานที่พุ่งสูง ซึ่งภาคครัวเรือนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 80% ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ ซึ่งเพิ่มจากเดือน เม.ย. ที่ต้องจ่ายค่าพลังงานที่แพงขึ้นมาแล้ว 50% จึงเป็นปัญหาที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องรีบจัดการ
"ทรัสส์" ปรับจุดยืนต่อรัสเซีย-จีน
ผู้นำอังกฤษคนใหม่มีจุดยืนสายเหยี่ยวในด้านการต่างประเทศ สะท้อนให้เห็นจากการปราศรัย เมื่อปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ทรัสส์แสดงจุดยืนแข็งกร้าว พร้อมกดปุ่มยิงอาวุธนิวเคลียร์ แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะนำไปสู่การทำล้ายล้างโลกก็ตาม นอกจากนี้ ยังเตรียมยกระดับด้านความมั่นคงมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการปกป้องอำนาจอธิปไตยของอังกฤษ
ทรัสส์ เสนออัดฉีดงบประมาณด้านกลาโหมจากร้อยละ 2.3 ของจีดีพีในปี 2022 เพิ่มเป็นร้อยละ 3 ของจีดีพีภายในปี 2030 ยิ่งไปกว่านั้นยังตั้งเป้ายกระดับความแข็งกร้าวในการดำเนินนโยบายต่างประเทศต่อรัสเซียและจีนให้มากขึ้น
การปราศรัยในไอร์แลนด์เหนือ เมื่อช่วงกลางเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ยิ่งตอกย้ำจุดยืนของทรัสส์ต่อประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินได้ชัดเจน
หนังสือพิมพ์ The Times รายงานว่า ทรัสส์เตรียมทบทวนแผนการดำเนินนโยบาย หรือ Integrated Review ปี 2021 และกำหนดให้จีนและรัสเซียเป็นภัยคุกคามความมั่นคงแห่งชาติ หลังจากรายงานฉบับนี้บ่งชี้ว่า รัสเซียเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดในภูมิภาคยูโร-แอตแลนติก
อังกฤษจะทำงานร่วมกับพันธมิตรกลุ่ม G7 ในการจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับยูเครน
ขณะที่บทบรรณาธิการของ Global Times สื่อทางการจีน วิพากษ์วิจารณ์จุดยืนสายเหยี่ยวของทรัสส์อย่างตรงไปตรงมา นอกจากนี้ยังแนะนำให้ผู้นำอังกฤษคนใหม่ลดความแข็งกร้าวต่อจีน และหันไปแก้ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในประเทศแทน
การมีบทบาทบนเวทีภูมิรัฐศาสตร์อาจเป็นจุดสนใจในระดับโลก แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ที่อังกฤษกำลังเผชิญอยู่ได้
การ์ตูนล้อเลียนฝีมือ Steve Bell จาก The Guardian ช่วยสะท้อนตัวตนของผู้นำหญิงคนที่ 3 ของอังกฤษได้เป็นอย่างดี เนื่องจากทรัสส์มี "มาร์กาเรต แทตเชอร์" หรือ "Iron Lady" ผู้นำหญิงคนแรกเป็นนักการเมืองต้นแบบมาโดยตลอด
แนวนโยบายของอังกฤษภายใต้การบริหารของทรัสส์ อาจยิ่งจุดชนวนให้อุณหภูมิการเมืองโลกร้อนแรงขึ้นตลอด 2 ปีนี้
ส่องประวัติผู้นำอังกฤษคนใหม่
ลิซ ทรัสส์ ว่าที่ผู้นำอังกฤษคนใหม่ และเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของอังกฤษ ซึ่งก่อนหน้านี้อังกฤษมีนายกฯ หญิงมาแล้ว 2 คน คือ มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ และเทเรซา เมย์
ทรัสส์ หรือ แมรี เอลิซาเบธ ทรัสส์ จบการศึกษาด้านปรัชญา การเมืองและเศรษฐศาสตร์ ที่วิทยาลัยเมอร์ตัน มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เคยเป็นประธานพรรคเสรีประชาธิปไตยของมหาวิทยาลัย และต่อมาได้เข้าร่วมกับพรรคอนุรักษ์นิยม หรือคอนเซอร์เวทีฟ และทำงานประจำในตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายปรับโครงสร้างใหม่ของบริษัท เชลล์ เคเบิล แอนด์ ไวร์เลส
ทรัสส์ ลงสนามการเมืองตั้งแต่ปี 2010 ในฐานะ ส.ส. จาก South West Norfolk และได้ก่อตั้งกลุ่ม ส.ส.อิสระของพรรคอนุรักษ์นิยม จากนั้นเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเยาวชนและการศึกษา ในปี 2012 และเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม ในปี 2014
ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในปี 2017 และเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสตรีและความเท่าเทียม ในปี 2019 กระทั่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษ ในปี 2021
อ่านข่าวอื่นๆ
จับตา! อังกฤษเตรียมประกาศชื่อนายกฯ คนใหม่
ระทึก! 2 ผู้ก่อเหตุไล่แทงคนในแคนาดาเสียชีวิต 10 คนเจ็บ 15