วันนี้ (7 ก.ย.2565) เพจเฟซบุ๊กประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เผยแพร่ภาพของเสือดาว ที่บันทึกได้จากกล้องถ่ายภาพสัตว์ป่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน
ข้อมูล ระบุว่า ในอดีตเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน เคยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง นับตั้งแต่ประกาศจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินเมื่อปีพ.ศ. 2521 จนถึงปัจจุบันกว่า 44 ปี พบร่องรอยของเสือโคร่ง ในพื้นที่ล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2548 (ข้อมูลจากการสอบถามเจ้าหน้าที่)
เสือดาว จึงมีบทบาทสำคัญในการเป็นสัตว์ผู้ล่าสูงสุดของห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศของป่าสาละวินในปัจจุบัน จากข้อมูลการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (Camera Trap) พบการกระจายของเสือดาวในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน อย่างต่อเนื่อง (พ.ศ.2558–2565) สอดคล้องกับข้อมูลจากการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ มีรายงานการพบรอยตีนของเสือดาวในพื้นที่เช่นกัน
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
แต่เนื่องจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน มีพื้นที่ติดชายแดนประเทศเมียนมาทั้งด้านบน และด้านทิศตะวันตก เสือดาว ที่พบในพื้นที่อาจมีพฤติกรรมการหากินข้ามไปมาระหว่างผืนป่าทั้งสองประเทศ ทำให้ไม่สามารถประเมินจำนวนประชา กรที่แน่ชัดได้ และยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับนิเวศวิทยาของเสือดาวในพื้นที่
ขณะที่เสือดาวเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และจัดอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ ตามการจัดสถานภาพสัตว์ป่าของ IUCN ดังนั้นเสือดาว ถือเป็นเป้าหมายการอนุรักษ์ ระดับชนิดพันธุ์ที่ได้รับการระบุลงในแผนแม่บทการบริหารจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการจัดทำร่างแผนฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนก.ย.นี้