ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ศักดิ์สยาม"เปิดประชุมขนส่ง APEC โชว์ลงทุนแลนด์บริดจ์ 1.1 ล้านล้านบาท

การเมือง
14 ก.ย. 65
16:25
713
Logo Thai PBS
"ศักดิ์สยาม"เปิดประชุมขนส่ง APEC โชว์ลงทุนแลนด์บริดจ์ 1.1 ล้านล้านบาท
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ศักดิ์สยาม" เปิดประชุมขนส่ง APEC โชว์ลงทุนแลนด์บริดจ์ กว่า 1.1 ล้านล้านบาท ดันไทยฮับโลจิสติกส์อาเซียน สั่ง สนข. ศึกษารูปแบบลงทุน คาดเสนอ ครม. พิจารณาภายในปีนี้

วันนี้ (14 ก.ย.2565) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวเปิดประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปค ครั้งที่ 52 (the 52nd APEC Transportation Working Group: TPTWG52) ภายใต้เป้าหมายหลัก คือ "การขนส่งที่ไร้รอยต่อ อัจฉริยะ และยั่งยืน" (Seamless, Smart and Sustainable Transportation)

เพื่ออำนวยความสะดวกการค้า การลงทุน และฟื้นฟูความเชื่อมโยงด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวในเขตเศรษฐกิจเอเปคและระดับโลก ทั้งรูปแบบ Online และ Onsite

 

สำหรับการประชุมด้านการขนส่งของเอเปคครั้งนี้ ถือเป็นเป็นเวทีสำคัญในการหารือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นร่วมกัน ระหว่างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 สาขา คือ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งทางอากาศ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบและระบบขนส่งอัจฉริยะ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งทางบก และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งทางน้ำ

เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งในมิติบก น้ำ ราง และอากาศ เสริมสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานและโอกาสในการเติบโตและฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในยุคหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

โดยเน้นการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามแนวคิด และการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อการขนส่งที่ยั่งยืนในภูมิภาค ซึ่งที่ประชุมได้มีการหารือและรับรองแผนยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งของเอเปค ปี 2565-2568

ซึ่งจะเป็นกรอบการทำงาน และแนวทางในการพัฒนาแผนงานประจำปีและกิจกรรมของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญใน 4 สาขา รวมถึงโครงการต่าง ๆ ในกรอบเอเปคด้านการขนส่ง เพื่อบรรลุตามวิสัยทัศน์ปุตราจายา ภายใต้กรอบเอเปค ปี ค.ศ.2040 ที่มุ่งสร้างเขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกที่เปิดกว้าง มีพลวัต ยืดหยุ่น และสันติสุข เพื่อความรุ่งเรืองของประชาชนและคนรุ่นหลัง

 

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ไทยได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สำหรับแผนยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี กระทรวงคมนาคมได้นำเสนอว่า ในขณะนี้ ได้ดำเนินการระยะที่ 1 กล่าวคือ การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3, การพัฒนาเมืองการบินอู่ตะเภา

รวมถึงแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-Map) ทั้งนี้ เพื่อเชื่อมโยงในเขตเศรษฐกิจเอเปคด้วยตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ และศักยภาพที่จะเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญระหว่างเขตเศรษฐกิจในการเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งของภูมิภาค

นอกจากนี้ นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวว่า ยังได้นำเสนอโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์) ซึ่งจะเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่ และเป็นประตูเศรษฐกิจของโลก

โดยไทยจะใช้ต้นแบบท่าเรือ Tuas ของประเทศสิงคโปร์ ที่ตั้งเป้าหมายในการเป็นท่าเทียบเรือตู้สินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก สามารถรองรับตู้สินค้าได้ 65 ล้านทีอียู ในระยะ 20 ปี หรือปี 2585

ซึ่งในส่วนของประเทศไทย ถือว่ามีข้อได้เปรียบในการเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาค เชื่อมต่อการขนส่งทางน้ำ ตามนโยบายสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และราคาสมเหตุสมผล

 

สำหรับความคืบหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา และลงรายละเอียดตามต้นแบบของสิงคโปร์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้

จากนั้นจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พิจารณาเห็นชอบในหลักการภายในปี 2565 ก่อนที่ในปี 2566 จะไป Roadshow ของโครงการทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุน

ส่วนการดำเนินการโครงการ ในปี 2566 ก็จะเห็นความชัดเจนและเป็นรูปธรรม ส่วนการเริ่มดำเนินการก่อสร้าง จะต้องรอรัฐบาลชุดใหม่ต่อไป โดยตามแผนธุรกิจ จะแล้วเสร็จในปี 2573

อย่างไรก็ตาม ตั้งเป้าหมายให้ดำเนินการแล้วเสร็จเร็วกว่าที่กำหนด เนื่องจากท่าเรือ Tuas ใช้ระยะเวลาก่อสร้างเพียงเพียง 3 ปี

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ส่วนรูปแบบการลงทุน ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปพิจารณาศึกษาและความเป็นไปได้ในการดำเนินการ

โดยแนวทางเบื้องต้น จะเป็นความร่วมมือกับพันธมิตร (Partner) ในต่างประเทศ ที่มีสายการเดินเรือแห่งชาติ เพื่อให้คุ้มค่าการลงทุน และมีอัตราผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการ (EIRR) ที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ของส่วนรวมและประเทศชาติ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต่อไป

 

ทั้งนี้ รูปแบบการลงทุน ก็จะประยุกต์ใช้แนวทางของท่าเรือ Tuas มีการลงทุนมูลค่า 2.7 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยภาครัฐลงทุน 40 % และบริษัทที่มีการประกอบธุรกิจ โดยมีรายได้จากการถือหุ้นในบริษัทอื่นเป็นหลัก และไม่มีการประกอบธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญเป็นของตัวเอง

ซึ่งอาจเป็นการลงทุนบริษัทในประเทศและ หรือบริษัทต่างประเทศ (Holding Company) ลงทุน 60 % สามารถคืนทุนได้ภายใน 7 ปี เนื่องจากมีการใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยดำเนินการ พร้อมทั้งการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ด้วย

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ จะเป็นรูปแบบการบริหาร 2 ท่าเรือให้เป็นท่าเรือหนึ่งเดียวกัน (One Port Two Sides) โดยจะดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกัน ถือเป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งและเศรษฐกิจใหม่ทางทะเล

เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าของภูมิภาค เชื่อมการขนส่งกับเส้นทางมอเตอร์เวย์ และทางรถไฟ คู่ขนานแนวเส้นทางร่วมกันตามแผนบูรณาการมอเตอร์เวย์เชื่อมต่อแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ (MR-MAP) สร้างความเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจใน APEC อย่างไร้รอยต่อ

รายงานข่าวจาก สนข. ระบุว่า สำหรับมูลค่ารวมของโครงการแลนด์บริดจ์ วงเงิน 1,194,307 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการลงทุนท่าเรือ วงเงิน 938,607 ล้านบาท และโครงการลงทุนเส้นทางเชื่อมโยง วงเงิน 255,544 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง