กรณีเกิดเหตุช้างป่าทำร้ายเจ้าหน้าที่เสียชีวิตติดต่อกันถึง 2 คนในช่วงเวลา 1 สัปดาห์ นำมาสู่การตั้งคำถามว่า "ช้างป่า" มีพฤติกรรมที่ดุร้าย และก้าวร้าว จนอาจสร้างความหวาดกลัวกับชาวบ้านที่อยู่ใกล้ป่าโดยเฉพาะเคสของเจ้าละมุด
ไทยพีบีเอสออนไลน์ หาคำตอบ ดร.ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ ผอ.ส่วนสารสนเทศด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช วิเคราะห์พฤติกรรมช้างป่า
พฤติกรรมช้างป่า ถูกมองว่าดุร้าย
หากวิเคราะห์ในภาพรวม "ช้างป่า" มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงพฤติกรรม ปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง มีปัจจัยไม่กี่อย่าง ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมช้าง ทั้งเรื่องการถูกขับไล่ออกจากโขลง และการถูกขับออกพื้นที่เดิมโดยช้างเจ้าถิ่น จนต้องขยับออกมาพื้นที่ชายขอบ และอีกปัจจัยแรงกดดันทั้งการดำรงชีวิต แหล่งน้ำ แหล่งอาหาร และพฤติกรรมความคุ้นชินที่เข้ามาติดกับแหล่งน้ำแหล่งอาหาร
ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
อ่านข่าวเพิ่ม "ต้น" ต้นแบบพิทักษ์ป่า ภารกิจสุดท้ายผลักดันช้างทับลาน
ตัวพฤติกรรมช้างที่เปลี่ยนแปลงไป มีอยู่หลายองค์ประกอบทั้งพฤติกรรม ของแต่ละตัว แต่ละกลุ่ม นิสัยใจคอไม่เหมือนกัน การรบกวน เป็นแรงกดดันภายนอกที่ช้างไม่เจอในสภาพธรรมชาติ ถูกผลักดันที่ใช้มาตรการที่รุนแรงและความเครียด
พบว่าประสบการณ์ที่ช้างพบเจอกับคน จะบ่อยครั้ง หรือครั้งสุดท้ายที่ฝังใจ จะเป็นสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดพฤติกรรมช้าง ไม่ว่าจะเชิงบวกหรือเชิงลบได้
ปูมหลังของ "เจ้าละมุด" ก่อคดีทำร้ายคน
กรณีเจ้าละมุด อาจจะเป็นไปได้ว่า ตั้งแต่ออกจากป่าทับลานในช่วง 2 ปี เจอทั้งการผลักดันขับไล่ ทั้งวิธีการที่รุนแรงทำให้มีความเครียด แต่ไม่ได้หมายความดุร้ายมากขึ้น สัตว์ขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นช้าง วัวแดง กระทิง เสือโคร่ง จะต้องการพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง
หลายครั้งที่เจอละมุดพบว่าถ้าเกิน 70-100 เมตรในรัศมีที่ช้างปลอดภัย ละมุดจะไม่แสดงอาการก้าวร้าว แต่ถ้าคนเข้าไปเกินระยะที่ช้างรู้สึกไม่ปลอดภัยแล้ว เกินเส้นบางๆ ที่พฤติกรรมจะเปลี่ยนทันที เพราะจำฝังใจกับคนว่าคนจะไปทำร้าย ทำให้การระวังตัวและการชาร์ตเกิดขึ้นได้ แม้แต่เจ้าหน้าที่และชาวบ้าน
เชื่อได้ว่าเจ้าละมุด อาจมีประสบการณ์กับคนที่ไม่ดีมากนัก อาจจะด้วยการขับไล่ที่ผิดวิธี ทั้งใช้ประทัดเสียงดัง การใช้อาวุธปืน กระสุนลุกปรายที่พบบ่อยและช้างที่เคยถูกกระทำจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากกว่าช้างตัวอื่นๆ
อ่านข่าวเพิ่ม ยังไม่เข้าป่า "ช้างละมุด" พังอาคารสำนักงานเสียหาย
ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ติดปลอกคอช้างละมุด มีผลหรือไม่
ตัวละมุดเป็นช้างที่หากินนอกพื้นที่ประจำ และพฤติกรรมส่วนตัวหากินทางตอนใต้ของอุทยานทับลาน แถวพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยโสมง แก่งดินสอ จ.ปราจีนบุรี พื้นที่นี้มีชุมชน มีการทำการเกษตร และพฤติกรรมเจ้าละมุด ไม่กลับพื้นที่ป่าธรรมชาติ แต่อาศัยบริเวณขอบป่าในช่วงกลางวัน และพื้นที่หากินในพื้นที่เกษตรกรรม กลายเป็นวงจรของละมุด และอาจเรียนรู้ ซึ่งแหล่งอาศัยของละมุด ก็มุดจริงๆ ไปหาเครื่องครัวตามบ้านเรือน เป็นการเรียนรู้ แต่ละตัวมีทักษะและฉลาดต่างกัน เป็นคาแรกเตอร์ส่วนตัว
ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ทำไมต้องติดปลอกคอช้าง
กรมอุทยานฯ มีโครงการติดปลอกคอช้าง (GPS-collar) มาตั้งแต่ปี 2561 การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของช้างโดยอุปกรณ์จากลักษณะหนึ่งไปอีกลักษณะหนึ่งโดยสิ้นเชิงยังไม่ประสบปัญหา
แต่ยอมรับว่า การที่มีสิ่งแปลกปลอมมาติดที่ตัวช้างมีน้ำหนัก 10 กิโลกรัม ในช่วง 3-5 วันเขาจะรู้สึกว่าอยากดึงออก แต่ไม่มีผลต่อดำรงชีวิตทั้งเรื่องพฤติกรรม และการกินอาหารกรมอุทยานฯ ติดปลอกคอช้าง 40 ตัวใน 7 กลุ่มป่า ตัวอุปกรณ์ในการติดตามช้างที่มีความเสี่ยง มีประวัติทำร้ายคน เป็นการเฝ้าระวัง
ไม่เกี่ยวกับปลอกคอ คำถามนี้ถูกถามมาเยอะมีการชี้แจงหลายครั้ง ทั้งทางเทคนิคและการทำงานทั้งในไทย และภูมิภาคใช้อุปกรณ์เพื่อติดตัวสัตว์ เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังไว้วางแผนการจัดการช้างทำในหลายประเทศทั้งเอเชีย แอฟริกา
โดยเฉพาะกับช้างเป็นการยืนยันว่า ตัวอุปกรณ์ติดตัวช้างไม่ได้ส่ง ผลกระทบโดยตรงทำให้ช้างปกติเป็นช้างเกเร หรือมีสภาพที่ดุร้ายขึ้น
อ่านข่าวเพิ่ม ปีเดียว 27 คนตายจากช้างป่า เร่งแก้ช้างออก 27 พื้นที่
ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
แก้ปัญหาละมุด ย้ายกลับป่าลึกทำได้หรือไม่
ทั้งนี้กรณีของเจ้าละมุด มีประวัติการทำร้ายคนเสียชีวิต ซึ่งอาจจะยังไม่ถึงกับเป็นพฤติกรรมที่ฝังใจ แต่จะเป็นพฤติกรรมที่ธรรมดาที่กเิดขึ้นในช้างว่าการฆ่าคนเกิดขึ้นได้ และโอกาสที่คนเข้าใกล้เจ้าละมุด อาจทำร้ายคนมีสูงมากกว่าปกติ จึงต้องแยกคน และช้างออกจากพื้นที่เสี่ยงช้างก็มีหัวใจ แต่คนจะเจ็บตายไม่ได้แล้ว
ในแนวทางปฏิบัติของกรมอุทยานฯ เช่นการนำไปไว้ในปางช้าง และการตรึงไว้ในพื้นที่ป่าลึก ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีกฎหมายที่เอื้อ และแนวทางที่เด็ดขาด อาจต้องใช้การเคลื่อนย้ายละมุดเป็นประเด็นแรกๆ
ตอนนี้ยังไม่มีสถานที่ไหนที่สามารถควบคุมช้างได้ 100% หากทำ ได้คือต้องนำเจ้าละมุด กลับไปในป่าลึกของทับลาน แต่เรื่องนี้ต้องประเมินเรื่องความปลอดภัย และข้อมูลทางวิชาการที่รอบคอบ พื้นที่รองรับต้องพร้อม
อ่านข่าวเพิ่ม ชาวบ้านผวา! "เจ้าละมุด" ทำร้ายพิทักษ์ป่าทับลานเสียชีวิต
ช้างเซเลบ-ดาวเด่นติด GPS-collar
พลายดื้อ ช้างป่าอายุ 40 ปี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ติด GPS-collar วันที่ 1 ธ.ค. 2563 นิสัยดุ และดื้อสมชื่อ ไม่กลัวช้าง และกลัวคน
พลายสาริกา อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ติด GPS-collar วันที่ ม.ค.2564 พฤติกรรมออกนอกป่าเขาใหญ่ มาแถว จ.นครนายก มักพาเพื่อนออกมาเดินด้วย
พลายสาริกา อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ติด GPS-collar วันที่ 12 ก.ย.2565 พฤติกรรมออกนอกป่าเขาใหญ่ มาแถว จ.นครนายก มักพาเพื่อนออกมาเดินด้วย
พลายบุญช่วย -พลายบุญมี อายุประมาณ 40-45 ปี ช้างป่าละอู อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี อายุประมาณ 40-45 ปี ติด GPS-collar วันที่ 2 มี.ค.2565 พฤติกรรมดื้อ เกเร หากินออกนอกเขตอุทยาน บุกเข้าไปหาของกินในบ้านคน ทำลายทรัพย์สินพืชไร่
สีดอละมุด ช้างป่าตัวผู้อายุ 25 ปี ติด GPS-collar วันที่ 17 มิ.ย.2565 พฤติกรรมหากินนอกป่าทับลาน มาไกลถึงอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง จ.ปราจีนบุรี (ฉายา มุด เพราะชอบมุด) เข้าบ้านหาปลาร้า ของเค็มในบ้าน
พลายเจ้างา ช้างป่าตัวผู้อายุ 20-25 ปี อุทยานแห่งชาติเขานัน และเขาหลวง จ.นครราชสีมา ติด GPS Collar เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2565 พฤติกรรมเป็นช้างป่าหลงโขลง เข้ามาอยู่ในสวนยางพาราชาวบ้าน ต.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช ไม่ยอมออกจากพื้นที่จนชาวบ้านไม่กล้าออกไปทำสวนยางพารา
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปีเดียว 27 คนตายจากช้างป่า เร่งแก้ช้างออก 27 พื้นที่