ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เตรียมสร้างสะพานรถไฟแห่งใหม่ไทย-ลาว-จีน รองรับขนส่งทางราง

ภูมิภาค
17 ก.ย. 65
09:04
1,840
Logo Thai PBS
เตรียมสร้างสะพานรถไฟแห่งใหม่ไทย-ลาว-จีน รองรับขนส่งทางราง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สถานีรถไฟหนองคาย เป็นสถานีสุดท้ายของรถไฟไทยในการขนส่งสินค้า-ผู้โดยสารจากต้นทาง ก่อนไปสิ้นสุดที่สถานีท่านาแล้งในลาว แม้ลาวจีนจะสร้างระบบรางมาเชื่อมที่สถานีท่านาแล้ง แต่ขนาดรางรถไฟของไทยและประเทศเพื่อนบ้านไม่สอดคล้องกัน จึงต้องวางแนวทางบริหารจัดการ

วันนี้ (17 ก.ย.2565) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงานบรรยากาศการใช้เครนยกตู้คอนเทนเนอร์ที่มาจากรางรถไฟของไทย ซึ่งมีขนาดความกว้าง 1 เมตร เพื่อยกไปใส่รางของจีนที่มีขนาด 1.435 เมตร ซึ่งเป็นแนวทางบริหารจัดการระยะสั้น หลังจากจีนและลาวลงทุนสร้างระบบรางที่ยังไม่เชื่อมต่อกันประมาณ 4 กิโลเมตร จากสถานีเวียงจันทน์ใต้ เชื่อมมายังสถานีท่านาแล้ง

การเปิดรถไฟลาวจีนเมื่อปลายปี 2564 ทำให้สินค้าจากไทยหันมาส่งทางรางมากขึ้น ปัจจุบันมีการขนส่งสินค้าระหว่างไทย-ลาว-จีน วันละ 7 เที่ยว ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1 หนองคาย-เวียงจันทน์ ซึ่งอาจทำให้สะพานรับน้ำหนักไม่ไหว

รัฐบาลทั้ง 3 ประเทศได้หารือที่จะสร้างสะพานรถไฟแห่งใหม่ ซึ่งเป็นสะพานคู่ขนานกับสะพานมิตรภาพเดิม ห่างไปประมาณ 30 เมตร รูปแบบเบื้องต้นจะสร้างระบบรางไป-กลับ ทั้งขนาดรางกว้าง 1 เมตร และ 1.435 เมตร เพื่อให้สะพานแห่งใหม่รองรับการขนส่งทางรางได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สิริมา วัฒโน รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย คาดหวังว่าจะเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจใน จ.หนองคาย รวมถึงในระดับภูมิภาคและประเทศ ซึ่งที่ตั้งของ จ.หนองคาย ถือเป็นประตูสู่อินโดจีน และคนหนองคายจะได้ประโยชน์ในเรื่องอุตสาหกรรมระบบโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมการเกษตร รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ

ส่วนสถานีรถไฟนาทา ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟหนองคายราว 3 กิโลเมตร จุดนี้มีแผนที่จะสร้างเป็นย่านศูนย์เปลี่ยนถ่ายทางการค้า และลานขนถ่ายสินค้าทางราง มีแผนติดตั้งเครนสำหรับยกตู้และวางตู้ เพื่อนำเข้าและส่งออกสินค้าผ่านระบบราง ซึ่งโครงการนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างจัดทำแผนเพื่อของบประมาณจัดทำรายงานการร่วมทุนนะหว่างภาครัฐและเอกชน

คาดว่าจะสอดคล้องกับรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทางประมาณ 170 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และจะแล้วเสร็จราวปี 2569 หากรถไฟทางคู่แล้วเสร็จตามกรอบเวลาที่กำหนด จะทำให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนและลดระยะในการขนส่งสินค้า ให้สามารถส่งออกสินค้าไปจีน ที่จากเดิมใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ก็เหลือเพียง 3 วันเท่านั้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง