สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) มีคำเตือนให้ประชาชนระมัดระวังการให้ข้อมูลส่วนบุคคลแก่บุคคลอื่น บนช่องทางออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะบุคคลที่ไม่รู้จัก และหลีกเลี่ยงการร่วมกิจกรรมบนโซเชียลฯ ที่มีลักษณะการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลในที่สาธารณะ เช่น การรับรหัส ATM นำโชค ที่มีการแจกให้กับผู้มีความเชื่อเกี่ยวกับตัวเลข ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในขณะนี้
สำหรับข้อมูลส่วนบุคคลสำคัญ 5 ประเภทที่ไม่ควรเปิดเผยต่อบุคคลอื่น ประกอบด้วย
- หมายเลขข้อมูลส่วนบุคคล เช่น เลขบัตรประชาชน, เลขหนังสือเดินทาง, เลขประจำตัวผู้เสียภาษี
- ข้อมูลพิกัดที่อยู่อาศัย, เบอร์โทรศัพท์, อีเมล
- ข้อมูลธนาคาร เช่น เลขบัญชี, รหัส ATM, เลขบัตรเครดิต
- ข้อมูลทางชีวมิติ เช่น ลายนิ้วมือ, ข้อมูลแสดงม่านตา
- ข้อมูลอุปกรณ์ เช่น IP Address, Mac Address, Cookie ID
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลส่วนบุคคลอื่นๆ ที่ทั้งเจ้าของข้อมูลและผู้ทำหน้าที่รักษาข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังไม่ให้เกิดการรั่วไหล อาทิ ข้อมูลทรัพย์สินของบุคคล เช่น ทะเบียนรถยนต์ โฉนดที่ดิน, ข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงไปยังข้อมูลส่วนบุคคลอื่นๆ เช่น วันเดือนปีเกิด เชื้อชาติ ข้อมูลทางการแพทย์ ข้อมูลทางการศึกษา ข้อมูลการจ้างงาน ข้อมูลประเมินผลการทำงาน หรือความเห็นของนายจ้างต่อการทำงานของลูกจ้าง ข้อมูลบันทึกต่างๆ ที่ใช้ติดตามตรวจสอบกิจกรรมของบุคคล ตลอดจนข้อมูลที่สามารถใช้ในการค้นหาข้อมูลส่วนบุคคลอื่นในอินเตอร์เน็ต
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้พบกรณีประชาชนถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพผ่านช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดีย ซึ่งพบว่ามีลักษณะคล้ายกัน คือการได้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงินให้มิจฉาชีพที่แสดงตัวในรูปแบบต่างๆ เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐ นำไปสู่การถูกจารกรรมทรัพย์สิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินในบัญชีเงินฝาก
“ข้อมูลส่วนบุคคลโดยเฉพาะหมายเลขส่วนบุคคล ข้อมูลธนาคาร เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่เจ้าของข้อมูลต้องระวัง ไม่บอกให้ผู้อื่นทราบ ไม่โพสต์เผยแพร่บนอินเตอร์เน็ต หรือบนเว็บไซต์ที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะเสี่ยงข้อมูลรั่วไหล หรือถูก Phishing ข้อมูลจากมิจฉาชีพ อาจนำไปสู่การจารกรรมข้อมูล เกิดการสูญเสียเงินและทรัพย์สิน” รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุ