วันนี้ (21 ก.ย.2565) นายสมบัติ เหสกุล นักวิชาการอิสระ ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอส กรณีที่สภา กทม.มีมติเมื่อวันที่ 14 ก.ย. ให้เลื่อนเก็บค่าขยะอัตราใหม่ จาก 20 บาท เป็น 80 บาท ออกไปอีกหนึ่งปี ว่า เป้าหมายสำคัญของการเก็บค่าขยะอัตราใหม่ เพื่อจูงใจให้คนแยกขยะมากขึ้นและมีขยะเหลือทิ้งน้อยลง แต่จะบรรลุผลลัพธ์นั้นได้ กทม.ต้องมีข้อมูลพื้นฐานก่อน และพัฒนาระบบการจัดเก็บให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ข้อมูลแรกที่ต้องมีคือ ต้องรู้ก่อนว่า ขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมดมาจากคน กทม.จริงๆ เท่าไหร่ และเป็นขยะที่เกิดจากประชากรแฝงหรือประชากรสัญจรเท่าไหร่
เพราะจากงานวิจัยหลายพื้นที่พบว่า ประชากรแฝงกับประชากรสัญจร คือคนที่ทำให้เกิดขยะ มากกว่าประชากรตามทะเบียนบ้านจริง มีข้อมูลว่าในเขตชนบทที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีขยะเกิดขึ้นคิดเฉลี่ยคนละ 0.8 กก./คน/วัน แต่เมื่อดูในรายละเอียดว่า คนในพื้นที่จริงๆ ก่อขยะแค่ 0.2-0.3 กก./คน/วัน แต่เวลาเก็บเงินค่าขยะ ก็จะเก็บเฉพาะแค่คนในพื้นที่ คือเก็บตามทะเบียนบ้าน
กทม.พบว่าคน กทม. ก่อขยะเฉลี่ย 4 กก./คน/วัน คำถามคือ คน กทม.ทุกคน สร้างขยะได้ขนาดนั้นเท่ากันทุกคนหรือเปล่า คำตอบคือไม่ใช่ทุกคน ดังนั้น เรากำลังเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง เอาคนในพื้นที่รับภาระ แต่คนที่มาสร้างภาระกลับไม่ถูกเก็บ
ข้อมูลที่ต้องมีต่อมาคือ ต้องรู้ว่าบ้านแต่ละหลังมีปริมาณขยะเท่าไหร่ เพราะถ้าไม่รู้ว่าบ้านแต่ละหลังมีปริมาณขยะมากน้อยต่างกันเท่าไหร่ กทม.ก็จะเก็บที่ราคาเท่ากันทุกหลังเหมือนเดิม ก็จะเป็นปัญหาแบบเดิม และอาจจะมีบางบ้านที่เลี่ยงไม่จ่าย เพราะราคาสูงขึ้น
พัฒนาระบบการจัดเก็บ ยึดหลัก “ทิ้งมากจ่ายมาก”
เมื่อมีข้อมูลแล้ว นายสมบัติ ระบุว่า กทม. สามารถใช้เวลาหนึ่งปีก่อนจะถึงกำหนดที่ข้อบัญญัตินี้ถูกใช้บังคับ นำข้อมูลดังกล่าวไปพัฒนาระบบการจัดเก็บค่าขยะ โดยต้องยึดหลัก “ทิ้งเยอะจ่ายเยอะ” หรือ “ผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่าย” โดยการคำนวณค่าขยะตามปริมาณที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละบ้าน บ้านไหนทิ้งเยอะ แสดงว่าบริโภคเยอะ ก็ต้องรับผิดชอบเยอะกว่าบ้านที่ทิ้งน้อยกว่า
นายสมบัติ ระบุว่า ในกรณีการเก็บค่าขยะตามบ้านนั้น ที่ผ่านมา กทม. มีเกณฑ์เก็บค่าขยะตามปริมาณขยะอยู่แล้ว หรือเรียกว่าอัตราก้าวหน้า ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2548 โดยหากเป็นบ้านที่มีขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน จะเสียค่าธรรมเนียมเดือนละ 20 บาท
แต่หากเกิน 500 ลิตรต่อวัน แต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตร เสียค่าธรรมเนียมเดือนละ 2,000 บาท และหากเกิน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ค่าเก็บและขนทุกๆ ลูกบาศก์เมตรหรือเศษของลูกบาศก์เมตร คิดเพิ่มทุกๆ 1 ลูกบาศก์เมตรๆ ละ 2,000 บาท
ในข้อเท็จจริงพบว่า การเก็บค่าขยะตามอัตราก้าวหน้าไม่เกิดขึ้นจริง เพราะแต่ละบ้านที่ กทม.ไปเก็บ ไม่เคยถูกชั่งน้ำหนักขยะก่อนเก็บเลย เมื่อไม่มีการชั่ง กทม. ก็เก็บเท่ากันทุกบ้าน บ้านไหนทิ้งมากก็ 20 บาท ทิ้งน้อยก็ 20 บาท ซึ่งหากไม่ปรับระบบการจัดเก็บตรงนี้ให้มีประสิทธิภาพและตามข้อมูลจริง คนก็อาจจะรู้สึกว่า ไม่ต้องแยกขยะก็ได้ เพราะยังไงก็ต้องถูกเก็บเท่ากับบ้านที่มีขยะมาก
นายสมบัติกล่าวว่า การทำค่าขยะแบบอัตราก้าวหน้าที่ชัดเจน รวมทั้งมีระบบรองรับ เช่น สามารถชั่งน้ำหนักขยะตามบ้านได้ เพื่อคำนวณให้ได้ค่าใช้จ่ายตามจริงได้ ก็จะจูงใจให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ คนจะหันมาแยกขยะมากขึ้น เพราะหากไม่แยก ก็จะมีขยะทิ้งมาก ก็ต้องจ่ายค่าขยะมากตามไปด้วย รวมทั้งการออกแบบระบบรองรับขยะที่เกิดจากประชากรแฝงหรือประชากรสัญจร ที่สร้างขยะใน กทม. ไม่น้อยด้วยเช่นกัน
กทม.ยังไม่พัฒนาการจัดเก็บค่าขยะอย่างเป็นระบบ ทั้งที่มีระบบอยู่แล้วตั้งแต่ปี 2528 ซึ่งปัญหาที่ไม่สามารถพัฒนาระบบได้ เพราะยังไม่มีการออกแบบการระบบการจัดเก็บที่มีประสิทธิภาพ
งบประมาณขยะ กทม. ไม่สะท้อนต้นทุนจริง
เมื่อดูตัวเลขงบประมาณรายจ่ายที่ระบุว่า เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะ กทม. พบว่าอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท แต่ถ้าคิดที่ต้นทุนจริงๆ คือเอาเงินลงทุนทั้งหมดมาคำนวณ เช่น ค่าดูแลเตาเผาขยะ รถขยะ ค่าขนส่ง หรือค่าจ้างพนักงานกวาดขยะ ถ้าเอาทั้งหมดนี้มาคิดรวมด้วย จะทำให้ตัวเลขต้นทุนที่แท้จริงอยู่ที่ประมาณ 10,000-13,000 ล้านบาท
หากเก็บค่าขยะในอัตราเท่ากัน คือ 20 บาท (ตามอัตราที่ใช้บังคับในปัจจุบัน) ก็จะทำให้ กทม.มีรายได้จากการจัดเก็บที่น้อยมาก เพราะหากคำนวณจากการเก็บบ้านละ 20 บาท ซึ่งทั้งกทม.มีครัวเรือนตามทะเบียนราษฎรประมาณ 3 ล้านหลัง ก็สามารถเก็บได้แค่ 600 ล้านบาท ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับต้นทุนจริงที่ประมาณ 10,000-13,000 ล้านบาท และในความเป็นจริง กทม.ก็ไม่สามารถเก็บค่าขยะได้ครบทุกหลัง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (14 ก.ย.) ที่ประชุมสภา กทม. มีมติเห็นชอบตามที่ผู้ว่าฯ และฝ่ายบริหารเสนอ “ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข” สาระสำคัญคือ ให้เลื่อนเก็บค่าธรรมเนียมขยะมูลฝอยในอัตราใหม่ 80 บาท จากเดิมที่เคยเก็บอยู่ที่ 20 บาทต่อครัวเรือนออกไปอีก 1 ปี คือเริ่มเก็บเดือนตุลาคม 2566 เหตุผลสำคัญคือ ไม่ต้องการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน ที่กำลังประสบปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้น