วันนี้ (21 ก.ย.2565) นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะทำงานด้านอำนวยการภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประเมินสถานการณ์น้ำในช่วงปลายเดือน ก.ย. - ต.ค.นี้ พบว่ามีแนวโน้มของปริมาณฝนที่เพิ่มมากขึ้น
รวมทั้งมีแนวโน้มของร่องมรสุมพาดผ่าน พื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออก ส่งผลให้ปริมาณน้ำในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ รายงานว่ามีแนวโน้มของพายุ 1-2 ลูกที่จะเข้าไทยช่วงต้นเดือน ต.ค. นี้ จึงต้องติดตามประ เมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และมีเกณฑ์บริหารจัดการน้ำ เพื่อลดผลกระทบกับประชาชน
ปรับระบายน้ำบางไทร 3,000 ลบ.ม. ต่อวินาที
นายสุรสีห์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาปริมาณ 2,200 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ส่วนท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ระบายน้ำในอัตรา 1,980 ลบ.ม.ต่อวินาที
ทั้งนี้ กรณีหากมีปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที จะบริหารจัดการน้ำลงมายังท้ายเขื่อนเจ้าพระยา และระบายออกทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของเขื่อนเจ้าพระยา พิจารณาปริมาณน้ำจากลุ่มน้ำป่าสัก ที่จะไหลเข้ามาสมทบด้วย
เบื้องต้นปรับลดเกณฑ์ระบายน้ำสถานีบางไทร เหลือ 3,000 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อบริหารความเสี่ยงกรณีมีฝนตกหนักในกทม.และปริมณฑล ให้เจ้าพระยามีศักยภาพในการระบายน้ำได้ดี
อ่านข่าวเพิ่ม กรมอุตุนิยมวิทยา ยัน "พายุกุหลาบ" ไม่กระทบไทย
เคลียร์ 10 ทุ่งรับน้ำเหนือ
นอกจากนี้ จะมีการบริหารจัดการน้ำโดยใช้ทุ่งรับน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จำนวน 10 ทุ่ง ซึ่งก่อนการผันน้ำเข้าทุ่ง ต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่ ปัจจุบันทุ่งรับน้ำเก็บเกี่ยวข้าว 90% และจะสิ้นสุดช่วงปลายเดือนก.ย.นี้
สำหรับการเตรียมพร้อมในกรณีมีปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา กอนช. ได้มอบหมายให้กรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ใช้การคาดการณ์จากแนวโน้มปริมาณฝนสูงสุด หรือกรณีการมีพายุจรเกิดขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการประเมินปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา และแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ
กอนช.ประเมินว่าอยู่ในช่วงลานีญา ส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 20% ของค่าปกติ จึงได้มีการดำเนินงานเชิงรุกล่วงหน้า เช่น การเตรียมพร่องน้ำในเขื่อนต่าง ๆ
ยังไม่สรุปฟลัดเวย์น้ำให้สรุป 12 ต.ค.นี้
ขณะที่สถานการณ์ปริมาณน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะทางภาคเหนือ ยังรองรับน้ำได้หากมีพายุจรเข้ามา รวมทั้งสามารถกักเก็บไว้ใช้น้ำต้นทุนสำหรับเพาะปลูกพืชฤดูแล้งได้ด้วย
เขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กบางแห่ง ซึ่งมีปริมาณน้ำค่อนข้างมากกอนช. ได้แจ้งเตือนกรมชลประทาน ให้ปรับเกณฑ์เพิ่มการระบายน้ำและต้องเฝ้าระวังหากมีฝนเพิ่มขึ้น
ส่วนประเด็นที่ กทม. เข้าร่วมประชุมหารือด้วยวันนี้เกี่ยวกับการสร้างทางด่วนน้ำ (ฟลัดเวย์) หรืออุโมงค์ระบายน้ำ โซนตะวันออก โดยเสนอให้กรมชลประทานดำเนินการใน จ.สมุทรปราการ
ที่ประชุมมอบหมายให้ 2 หน่วยงาน หารือร่วมกัน เพื่อเสนอต่อคณะอนุกรรมการ กอนช.วันที่ 6 ต.ค. นี้ และเสนอคณะกรรมการ กนช.ชุดใหญ่วันที่ 12 ต.ค. นี้ส่วนประเด็นการปรับปรุงประสิทธิภาพที่สถานีสูบน้ำพระโขนงเพิ่มเติม ทาง กทม. จะทำแผนงานมาเสนออีกครั้ง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เตือน 35 เขต กทม.ฝนตก 4 ทุ่ม - ตี 1