ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศาลไม่รับอุทธรณ์ "อดีตผู้นำเขมรแดง" ยืนโทษจำคุกตลอดชีวิต

ต่างประเทศ
22 ก.ย. 65
16:29
1,355
Logo Thai PBS
ศาลไม่รับอุทธรณ์ "อดีตผู้นำเขมรแดง" ยืนโทษจำคุกตลอดชีวิต
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศาลพิเศษกัมพูชาที่ได้รับการสนับสนุนจากยูเอ็น ปฏิเสธคำร้องขออุทธรณ์ของ "เขียว สัมพัน" หนึ่งในอดีตผู้นำเขมรแดง

วันนี้ (22 ก.ย.2565) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ศาลพิเศษกัมพูชาปฏิเสธคำร้องขออุทธรณ์ครั้งที่ 3 ของ "เขียว สัมพัน" วัย 91 ปี อดีตประมุขแห่งรัฐของกัมพูชา ภายใต้การปกครองของเขมรแดง และแกนนำระดับสูงคนสุดท้ายของเขมรแดงที่ยังมีชีวิตอยู่

ศาลพิพากษายืนโทษจำคุกตลอดชีวิต จากความผิดในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

เขียว สัมพัน ถูกกล่าวหาว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวจาม 100,000-500,000 คน และชาวเวียดนามอีก 20,000 คน ในยุคเขมรแดง

ศาลพิเศษคดีเขมรแดง ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือน มิ.ย.2003 หลังจากองค์การสหประชาชาติ (UN) และรัฐบาลกัมพูชาบรรลุข้อตกลงร่วมกัน เพื่อดำเนินคดีแกนนำระดับสูงของกลุ่มเขมรแดง เนื่องจากการปกครองอย่างสุดโต่ง ทำให้ชาวกัมพูชาเสียชีวิตกว่า 2 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ

สาเหตุการเสียชีวิต ครอบคลุมตั้งแต่ปัญหาความอดอยาก การทรมาน การบังคับใช้แรงงานหนัก ไปจนถึงการประหารชีวิต ตลอดระยะเวลา 4 ปี ภายใต้การปกครองของเขมรแดง มีเรือนจำ 189 แห่ง และทุ่งสังหารอีก 380 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ

 

การพิจารณาคดีของศาลใช้งบประมาณสนับสนุนจากยูเอ็น มากกว่า 330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท ขณะที่การทำงานของศาลพิเศษคดีเขมรแดงค่อนข้างล่าช้า และสามารถพิจารณาคดีแกนนำระดับสูงเพียงแค่ไม่กี่คนเท่านั้น

แกนนำที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีของศาลพิเศษคดีเขมรแดง มี 5 คน คือ อ ประมุขแห่งรัฐ, นวน เจีย พี่ชายหมายเลข 2, เอียง ซารี พี่ชายหมายเลข 3, เอียง ทิริต อดีตรัฐมนตรีกิจการสังคม และกาง เกก อิว ผู้ดูแลเรือนจำตวลสเลง

เอียง ซารี และเอียง ทิริต เสียชีวิตในระหว่างการพิจารณาคดี ขณะที่ กาง เกก อิว และนวน เจีย เสียชีวิตหลังจากถูกพิพากษาลงโทษ ส่วน ปอล ปอต ผู้นำสูงสุดเขมรแดงและพี่ชายหมายเลข 1 เสียชีวิตเมื่อปี 1998 ในวัย 73 ปี ก่อนที่จะมีการจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นมา

จนถึงนาทีนี้ ผู้รอดชีวิตจากยุคเขมรแดง ระบุว่า ยังไม่สามารถเยียวยาบาดแผลที่เกิดจากความทุกข์ทรมานที่ผ่านมาได้

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศลุ่มน้ำโขง ตั้งข้อสังเกตว่า การจัดตั้งศาลพิเศษคดีเขมรแดง มีวาระซ่อนเร้นทางการเมือง เนื่องจากฮุน เซน และเจ้ารณฤทธิ์ ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีร่วมกัน ต้องการสลัดภาพลักษณ์เชื่อมโยงกับเขมรแดง

 

อ่านข่าวอื่นๆ

ชาวรัสเซียประท้วง ปูตินสั่งระดมกำลังพลสำรองสู้ศึกยูเครน

ชายญี่ปุ่นจุดไฟเผาตัวเองประท้วงจัดรัฐพิธีศพให้ "ชินโสะ อาเบะ"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง