ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก มนุษย์จึงทำได้เพียงคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ มาเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งภัยแล้งเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์และแก้ไขได้ยาก แต่ในรัฐบาลแคลิฟอร์เนียได้เห็นความสำคัญของปัญหาและทุ่มงบประมาณกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (734 ล้านบาท) ในการแก้ปัญหานี้
โครงการเน็กซัส (Project Nexus) เป็นโครงการแก้ปัญหาเชิงบูรณาการด้านภัยแล้งและการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ โดยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่มีลักษณะคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมู ขนาดกว้าง 33.5 เมตร ยาว 2.6 กิโลเมตร ติดตั้งโดยรอบพื้นที่อ่างเก็บน้ำของเขตชลประทานเทอร์ล็อค (Turlock Irrigation District: TID) ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่อง เพื่อลดการระเหยของน้ำ แล้วนำผลการศึกษาที่ได้ไปต่อยอดกับเขตชลประทานพื้นที่อื่นในรัฐแคลิฟอร์เนียต่อไป
การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ของโครงการเน็กซัสเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการซึ่งเริ่มต้นศึกษาในปี 2021 หากทำการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในพื้นที่รัฐแคลิฟอร์เนียที่มีความยาวกว่า 643.7 กิโลเมตรได้สำเร็จ จะช่วยแก้ปัญหาความแห้งแล้งได้ เพราะจะลดการสูญเสียน้ำได้ถึง 286 ล้านลิตร ซึ่งจะเพียงพอแก่การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า 13 กิกะวัตต์ต่อปี ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าในรัฐแคลิฟอร์เนียได้ถึง 1 ใน 6 ของความต้องการอีกด้วย
รัฐบาลแคลิฟอร์เนียได้ทุ่มเงินกว่า 20 ล้านดอลลาร์เพื่อจัดทำโครงการนี้ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในต้นปี 2023 และจะแล้วเสร็จภายในปี 2024 หากโครงการนำร่องนี้ประสบความสำเร็จตามแผนที่วางไว้ ก็จะเริ่มจัดทำโครงการอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับการผลิตพลังงานหมุนเวียนและแก้ปัญหาภัยแล้งไปพร้อมกันได้
ที่มาข้อมูล: tid, reuters, timesofsandiego
ที่มาภาพ: tid
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech